วช. มอบรางวัลเยาวชนสายอุดมศึกษา หนุนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่

  • 9 August 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 600
วช. มอบรางวัลเยาวชนสายอุดมศึกษา หนุนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศผลทีมสายอุดมศึกษาผู้พิชิตรางวัลในกิจกรรม “การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566”ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ครั้งที่ 18 ในปีนี้มีผลงานจากนักประดิษฐ์ระดับชั้นอุดมศึกษา จัดแสดงจำนวน 154 ผลงาน ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมชมงานจำนวนมาก ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล
จะได้รับเงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตร จาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้มอบรางวัล ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราและบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวชื่นชมคณะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงผู้บริหารหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์ หรือองค์ความรู้การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานความรู้ในการนำไปพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญหนึ่ง ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนไทย ได้นำเสนอผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาผลงานให้ก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัยนักประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาตลอดการจัดงานที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจผลงานของนิสิต นักศึกษา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัยในอนาคตที่ดี ด้วย

การมอบรางวัลผลงานจากการประกวด มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 และ 2. รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา โดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป

ในปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ดังนี้
-ระดับปริญญาตรี กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เทคนิคการวิเคราะห์ภาพสำหรับการตรวจหาโรคในใบข้าวโพดโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึก” แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์เนื้อเยื่อจำลองจากพอลิไวนิลคลอไรด์ที่มีคุณสมบัติทางกลและภาพถ่ายทางการแพทย์ที่เหมาะสม” แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบและพัฒนาชุดทดสอบเสมือนจริงสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับสำหรับลากลิ่มเลือดในสมอง” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “วัสดุดูดซับโลหะหนักจากโฟมยางธรรมชาติและผงไคโตซานที่ผ่านการฉายรังสีแกมมา” แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ตองกง : ชุดศิลปหัตถกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวลับแล” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัย เรื่อง “เอนเคล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมสร้างและชะลอการย่อยสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มพลังงานและส่งเสริมการขับถ่าย” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งแคนเซอร์แอนติเจน 125 และคาร์ซิโนเอ็มบริโอนิกแอนติเจนพร้อมกันโดยใช้อิเล็กโทรดคาร์บอนคู่แบบรวมฟลูอิดิกสำหรับการตรวจวัดมะเร็งรังไข่” แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจวัดความแก่ของทุเรียนจากเสียงเคาะทุเรียน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากพลาสติกชีวภาพผสมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “คราฟติฟาย : แพลตฟอร์มเพื่อการร่วมสร้างสรรค์หัตถกรรมจักสาน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมี ผู้ได้รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา มีดังนี้
-ระดับปริญญาตรี กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ไบโอ-คิล ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช
ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เครื่องจ่ายน้ำยาล้างคลองรากฟันชนิดสั่นได้”
แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “การออกแบบและพัฒนาชุดทดสอบเสมือนจริงสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์
ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับสำหรับลากลิ่มเลือดในสมอง” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมพอลิเมอร์ไมโครแคปซูลชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการนำเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตไบโอเอทานอล” แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดตรวจสุขภาพอัจฉริยะพร้อมเชื่อมต่อระบบสารสนเทศแบบพกพา สำหรับงานสาธารณสุขเชิงรุก” แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-ระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มที่ 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “เอนเคล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยเสริมสร้างและชะลอการย่อยสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มพลังงานและส่งเสริมการขับถ่าย” แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไม่มีผู้ได้รับรางวัลระดับดีเด่น กลุ่มที่ 3 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจวัดความแก่ของทุเรียนจากเสียงเคาะทุเรียน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง ““WIN-Bugs”: ของเสียสมรรถนะกำลังสองเป็นทั้งสารอาหารเสริมสำหรับพืชและสารกำจัดแมลงศัตรูพืชจากเปลือกไข่และเปลือกสับปะรดเหลือทิ้ง” แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และกลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “คราฟติฟาย: แพลตฟอร์มเพื่อการร่วมสร้างสรรค์หัตถกรรมจักสาน” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วช. หวังว่าการมอบรางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพ สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนและการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ และส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน อีกด้วย
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories