วช. ร่วมกับ กอ.รมน. มอบนวัตกรรม “ชุดผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านยางห้าร้อย ตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

วช. ร่วมกับ กอ.รมน. มอบนวัตกรรม “ชุดผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านยางห้าร้อย ตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (ศปป.1) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวภาวณี คำชาลี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลกรการวิจัย รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบนวัตกรรม ร่วมกับ พลโท พิชิตพล แจ่มจำรัส ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ในโครงการ “การจัดการวัตถุดิบชีวภาพในท้องถิ่นเพื่อผลิตปุ๋ยโดยใช้วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมี นายไพบูลย์ ศุภบุญ ปลัดจังหวัดอ่างทอง ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านยางห้าร้อย โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ให้เกียรติเข้าร่วม

พลโท พิชิตพล แจ่มจำรัส ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. โดย ศปป.1 ได้ร่วมมือกับ วช. ในการคัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินการในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การพึ่งพาและการจัดการด้วยตนเอง โดยนำนวัตกรรมต่างๆ ของนักวิจัยไทย มาขยายผลทำให้เกิดการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่ ตำบลบ้านพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ในการขยายผลนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรและวัตถุชีวภาพภายในท้องถิ่นเพื่อผลิตปุ๋ย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหัวหน้าโครงการฯ และมีนักวิจัยจากวิทยาลัยชุมชนปัตตานีร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ศปป.1 กอ.รมน. ได้ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ อย่างดียิ่งใน จ.อ่างทอง พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวตำบลบ้านพราน กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

นางสาวภาวณี คำชาลี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลกรการวิจัย รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาคการวิจัย ภาคการศึกษาและภาคความมั่นคง ในการเชื่อมต่องานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร รวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตลอดจนเพื่อนำการวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการปฏิบัติและการถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของ กอ.รมน.นำสู่ชุมชนที่มีศักยภาพประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

นายไพบูลย์ ศุภบุญ ปลัดจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ที่ทางศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านยางห้าร้อยได้รับการสนับสนุน “ชุดนวัตกรรมผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” นี้ เป็นเวลาร่วม 6 เดือนแล้ว พบว่าทางศูนย์ฯ ได้มีการใช้งานชุดเครื่องจักรในการผลิตปุ๋ยอัดเม็ด โดยนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชหลักของพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย โดยสามารถผลิตปุ๋ยอัดเม็ดแจกจ่าย จำหน่ายไปแล้วกว่า 7 ตัน ซึ่งให้เกิดการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ถึงสองเท่า ซึ่งเห็นได้ว่าโครงการนี้ได้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินโครงการมาอย่างคุ้มค่า สนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีความคาดหวังว่าประชาชนในพื้นที่ ที่ดำเนินโครงการจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดจากการใช้งานจริงเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่พี่น้องประชาชนผู้สนใจได้เพื่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นต่อไป

กิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานร่วมกับ ศปป.1 กอ.รมน. ซึ่งในปี 2567 วช. ได้สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น โดยกลไกบูรณาการร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย วช. ได้สนับสนุนองค์ความรู้ “ชุดอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ชุมชน

Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories