วช. ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC)

  • 28 March 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 382
วช. ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC)
วช. ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC)
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของสภาวิจัยโลก (Global Research Council: GRC) ในฐานะกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom)
การประชุมคณะกรรมการบริหารในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2566 เพื่อรายงานผลการประชุมระดับภูมิภาคทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ 1) เอเชีย-แปซิฟิก 2) ยุโรป 3) อเมริกา 4) แอฟริกาใต้สะฮารา และ 5) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร. วิภารัตน์ ได้กล่าวรายงานสรุปผลการประชุมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง วช. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2565 ให้ที่ประชุมรับทราบอีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานขององค์กรในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะความคืบหน้าในการจัดการประชุมใหญ่ประจำปี 2566 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีหัวข้อหลักในการประชุมคือ 1) บทบาทของหน่วยงานให้ทุนในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ 2) นวัตกรรมการให้รางวัลและยกย่องนักวิชาการ โดยมี Dutch Research Council (NWO) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ São Paulo Research Foundation (FAPESP) ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพร่วม รวมทั้งสรุปเจ้าภาพการประชุมระดับภูมิภาคที่จะมีขึ้นช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะจัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมี Department of Science and Technology (DOST) ประเทศฟิลิปปินส์ และ Ministry of Business, Innovation and Employment ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
อนึ่ง สภาวิจัยโลก หรือ Global Research Council (GRC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยการรวมตัวกันของหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) และเปิดโอกาสให้ประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำงานร่วมกันอย่างไร้พรมแดน ซึ่ง วช. เป็นหน่วยงานของประเทศไทยที่เข้าร่วม GRC ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีคณะกรรมการบริหาร (Governing Board) ขององค์กรประกอบไปด้วยผู้บริหารของหน่วยงานสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากทั้ง 5 ภูมิภาค และมีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมของ GRC ตลอดจนให้ความเห็นในประเด็นสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุนประเทศต่างๆให้มีความเข้มแข็งเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลก
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories