วช. สนับสนุนม.ธรรมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรเสริมสมรรถนะบุคลากรสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (THRU)

วช. สนับสนุนม.ธรรมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรเสริมสมรรถนะบุคลากรสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (THRU)

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมจัดการอบรมหลักสูตรเสริมสมรรถนะบุคลากรสาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์เพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (THRU) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ให้เกียรติกล่าวปาฐกถา เรื่อง “งานวิจัยสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์: ความท้าทายและโอกาสในการนำไปใช้ประโยชน์” และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Module 1: Global and Local Perspective” การอบรมดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 – 16 มกราคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล

 

 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมงานวิจัยในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศ จึงได้สนับสนุนการอบรมภายใต้โครงการการพัฒนาหลักสูตรเสริมศักยภาพและจรรยาบรรณด้านการวิจัยในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้การส่งเสริมการสร้างทัศนคติที่เน้นจรรยาบรรณ ความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในมิติมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างรอบด้าน

 

ดร.เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า “หลักสำคัญในการขับเคลื่อนให้งานวิจัยใช้ประโยชน์ได้นั้น ต้องเน้นความเป็น “ สหวิทยาการ ” และ “ระบบพหุเมธาจารย์ (Multi-layer Mentoring)” ซึ่งเกื้อหนุนกันให้งานวิจัยสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สามารถผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือ เชื่อมโยงกับหลากหลายสาขา โดยจะส่งผลให้เปิดรับประเด็น หรือ มุมมองใหม่ๆ ที่เฉียบคม ตลอดจนสามารถทำการวิจัยที่เคยมีลักษณะซับซ้อนให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณลักษณะนี้จะทำให้งานวิจัยสามารถก้าวผ่านขอบเขตแบบเดิมและเข้าสู่การเป็นงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในที่สุด

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีต รมว.อว. ได้นำเสนอ “แนวคิดทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กับการปรับใช้กับประเทศไทย” ซึ่งประกอบไปด้วยวาระสำคัญ  4 ประการ (1) การปรับกระบวนทัศน์ให้ก้าวข้ามจากความพยายามในการ generalise และสร้างทฤษฎีที่เป็นสากลแบบวิทยาศาสตร์ (2) ก้าวพ้นความเป็นตะวันตกและแสวงหาพื้นฐานเป็นไทยที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อพัฒนาและส่งออกทดแทนการนำเข้าองค์ความรู้จากตะวันตก (3) ทำวิจัยโดยบูรณาการองค์ความรู้ในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อให้มีมุมมองและเครื่องมือที่หลากหลาย และ (4) ใช้กลวิธีเพื่อสื่อสารนำเสนอผลงานวิจัยให้สามารถเข้าถึงคนได้ง่ายและน่าสนใจในวงกว้าง ทั้งนี้ ได้ย้ำว่าลักษณะเหล่านี้จะทำให้งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นงานวิจัยที่จะมีบทบาทที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณางานวิจัยของไทยที่มีอยู่มีความน่าสนใจมากมายและสามารถขึ้นไปยืนได้ในเวทีระดับสากล

 

โครงการการพัฒนาหลักสูตรเสริมศักยภาพและจรรยาบรรณด้านการวิจัยในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีรองศาสตราจารย์สุนิดา อรุณพิพัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้สามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการนำผลลัพธ์จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ

Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories