สภาวะแวดล้อมปัจจุบันที่มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม มีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ส่งผลทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซกลุ่มไนโตรเจน และ ซัลเฟอร์ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง นอกจากนี้ ในด้านงานก่อสร้าง ความเป็นกรดของน้ำฝนสามารถทำให้ผิวหน้าขององค์อาคารเกิดความเสียหาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา สมนา แห่งสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา เปิดเผยว่า นวัตกรรมจีโอโพลิเมอร์ปูนฉาบต้านทานกรดมีแนวคิดที่มาจากการพัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์ในการผลิตเป็นปูนฉาบ เนื่องจากปูนซีเมนต์ที่ใช้ทั่วไป ถ้านำไปฉาบผนังอาคารภายนอกที่สัมผัสกับน้ำฝนนาน ๆ ก็จะหลุดร่อนและอาจส่งผลกระทบต่อเหล็กเสริมในองค์อาคารจากการแทรกซึมของน้ำและความชื้นได้ และเหตุนี่เองจึงคิดค้นนวัตกรรมจีโอโพลิเมอร์ปูนฉาบต้านทานกรดขึ้น โดยเริ่มจากการสังเคราะห์จากเถ้าถ่านหิน เถ้าแกลบ เถ้าชานอ้อย เถ้าปาล์มน้ำมัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม ที่สามารถทำปฏิกิริยากับสารละลายด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่มีทรายเป็นมวลรวมละเอียด ทำให้เกิดเป็นโมเลกุลลูกโซ่ของผลิตภัณฑ์จีโอโพลิเมอร์ มีความสามารถในการรับกำลังอัดได้ดี และมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ได้ และเมื่อนำมาทดสอบด้วยการแช่จีโอโพลิเมอร์มอร์ต้าในสารละลายกรดไนตริก กรดซัลฟิวริคและฝนกรดสังเคราะห์ พบว่ากำลังอัดของวัสดุลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีการแทรกซึมของกรดเข้าสู่เนื้อจีโอโพลิเมอร์ได้ดี แม้ระยะเวลาผ่านไป 90 วัน อีกทั้งมีระยะเวลาการก่อตัวช้า สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุฉาบภายนอกอาคาร ป้องกันปัญหาการกัดกร่อนของฝนกรดที่ผิวหน้าของจีโอโพลิเมอร์ได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมจีโอโพลิเมอร์ปูนฉาบต้านทานกรด ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรม “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 - 17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินมาครอง
การประกวดในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมการประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับจากผู้ใช้งาน และเป็นที่ต้องการทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป