วช. ส่งเสริมการบริการรหัส DOI เพื่อช่วยให้ค้นหาและเชื่อมโยงการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวก

วช. ส่งเสริมการบริการรหัส DOI เพื่อช่วยให้ค้นหาและเชื่อมโยงการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวก

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม “การส่งเสริมการบริการรหัส DOI ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ ความเข้าใจ การบริการรหัสตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier: DOI) และการใช้งานระบบบริการรหัส DOI ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล รวมถึงรับทราบนโยบายและแนวปฏิบัติการบริการรหัส DOI ของ วช. ซึ่งในวงการวิจัยและการศึกษา การใช้ประโยชน์จากรหัส DOI จะช่วยในการค้นหาและเชื่อมโยงการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวก เป็นกลไกในการแสดงความเป็นเจ้าของผลงาน โดยจะนำไปสู่การจัดระบบการอ้างอิงผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยและระบบ Citation ที่เชื่อถือได้ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม และศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาแผนงาน Hub of Talents Hub of Knowledge สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้เกียรติบรรยายเรื่อง “ความสำคัญและประโยชน์ของรหัส DOI” พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายรุ่งเรือง มากสกุล ผู้พัฒนาระบบ จากบริษัท ซิมพลี ไบรท์ ซิสเต็ม จำกัด เป็นวิทยากรบรรยาย ซึ่งมี นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วช. เป็นผู้กล่าวต้อนรับ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องโถงศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชั้น 1 อาคาร วช. 1 สำนักงานการวิสจัยแห่งชาติ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้บริการสารสนเทศการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล ด้วยการกำหนดรหัสตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier : DOI) ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากรหัส DOI ของประเทศ ในการค้นหาและการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวก สามารถสืบค้นข้อมูลได้เจอบนอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา และช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนบรรณานุกรม โดยการอ้างถึงรหัสนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ที่จัดเก็บหรือสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลนั้น โดยการจัดกิจกรรม “การส่งเสริมการบริการรหัส DOI ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล” ในครั้งนี้ เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) และหน่วยงานที่ไม่เป็นสมาชิก DOI มีความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของรหัส DOI รวมทั้งรับทราบนโยบายและแนวปฏิบัติการบริการรหัสตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier: DOI) และการใช้งานระบบบริการรหัส DOI


วช. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Data Cite ซึ่งสนับสนุนการใช้รหัสตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier: DOI) กับงานวิจัยและงานวิชาการระดับอุดมศึกษา โดย วช. ได้รับอนุมัติเป็นองค์กรในการกำหนดรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของงานวิจัยในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2556 วช. ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน DOI และเริ่มให้บริการ ในปี พ.ศ.2557 โดยออกรหัส DOI ให้กับงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และ บทความวารสาร หลังจากนั้นได้ขยายการให้บริการกับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลประเภทอื่น ได้แก่ รูปภาพ ภาพยนตร์/แอนนิเมชัน/เสียง เอกสาร และวัตถุดิจิทัลอื่น ๆ รวม 7 ประเภท จนถึงปี พ.ศ. 2566 ได้พัฒนาระบบการออกรหัส DOI จากหน่วยงานตัวแทนสำหรับ วช. โดยมีหน่วยงานตัวแทนนำร่อง 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1) หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) สำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 4) สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ตัวระบุวัตถุดิจิทัล หรือ DOI เป็นเลขมาตรฐานสากลของสารสนเทศดิจิทัล เรียกว่า ISO26324 : 2022 ในการระบุตัวบ่งชี้ของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลหรือรหัสประจำเอกสารดิจิทัล ซึ่งเป็นข้อมูลการจัดเก็บและการอ้างอิง ทั้งข้อมูลไฟล์ดิจิทัลและวัตถุอื่น รหัส DOI ช่วยให้ค้นหาและเชื่อมโยงการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลได้สะดวก ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของเว็บไซต์หรือ URL แล้วก็ตาม


การจัดกิจกรรม “การส่งเสริมการบริการรหัส DOI ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล” ในครั้งนี้ มีหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่เป็นสมาชิก DOI และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 70 คน

Print

Categories