วช. หนุนงานวิจัย ม.เกษตร มุ่งส่งเสริมโครงการพัฒนามูลค่าการเลี้ยงหอยมุก สู่อุตสาหกรรมความงามและสุขภาพ

  • 1 May 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 2276
วช. หนุนงานวิจัย ม.เกษตร มุ่งส่งเสริมโครงการพัฒนามูลค่าการเลี้ยงหอยมุก สู่อุตสาหกรรมความงามและสุขภาพ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาอุตสาหกรรมเลี้ยงหอยมุก หลังนักวิจัยไทยโชว์ฝีมือค้นพบเมือกหอยมุก สุดยอดแห่งโมเลกุลเพปไทด์และโปรตีนจำนวนมาก มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูสภาพชั้นผิวหนัง ลดการอักเสบ นับเป็นการศึกษาวิจัยที่สามารถค้นพบประโยชน์จากส่วนอื่น ๆ ของหอยมุกมากขึ้นกว่าเดิมนอกเหนือจากเปลือกและไข่มุก

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา วช. ภายใต้กระทรวง อว. ให้ความสำคัญอย่างมากกับโครงการการเพิ่มมูลค่าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ และของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม (ปี 2562) ของ ดร.สุพนิดา วินิจฉัย หัวหน้าโครงการฯ แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะปัจจุบันไข่มุกที่เกิดขึ้นจากหอยมุกนอกจากจะเป็นอัญมณีที่สวยงามแล้ว ยังมีประโยชน์สำคัญต่อสุขภาพด้านการปรับสมดุลร่างกาย และบำรุงผิวพรรณ นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าที่ได้จากผงไข่มุก และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแทนที่จะกลายเป็นของเหลือทิ้ง

ดร.สุพนิดา วินิจฉัย หัวหน้าโครงการฯ แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยเรื่องนี้มาจากการพบว่าชาวจีนเป็นกลุ่มแรกที่นำไข่มุกมาบดละเอียดผสมกับสมุนไพรใส่ลงไปในเครื่องสำอาง เพื่อช่วยให้ผิวไม่มีริ้วรอย คงความชุ่มชื้นและชะลอความแก่ ตามความเชื่อของชาวจีนที่เชื่อว่าไข่มุกสามารถรักษาสมดุลการไหลเวียนของพลังชีวิต ขณะที่เปลือกของหอยมุกถือว่าเป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตจากไข่มุกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ประดับตกแต่งของใช้ ประดับบานประตูโบสถ์ และวิหารของวัด อีกทั้งเปลือกหอยมุกเมื่อบดเป็นผงยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นส่วนผสมในปูนซีเมนต์เพื่อก่อสร้างได้อีกด้วย ส่วนเมือกของหอยมุก (Pearl slime) จากรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและทางการแพทย์ได้ด้วยเนื่องจากเมือกของหอยมุกประกอบด้วยโมเลกุลของเพปไทด์และโปรตีนจำนวนมาก จึงสามารถช่วยการต้านเชื้อจุลชีพ ช่วยในการฟื้นฟูสภาพชั้นผิวหนัง นับว่าเป็นการศึกษาวิจัยที่ทางโครงการสามารถค้นพบการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ในส่วนต่าง ๆ ของหอยมุกมากขึ้นกว่าการเป็นเครื่องสำอางอย่างเดียว เท่ากับเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมุกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ (New value creation) เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแทนการปล่อยของเหลือทิ้ง

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งพัฒนาและวิธีการสกัดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับส่วนของเมือกและเปลือกหอยมุกซึ่งเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุก โดยใช้กรรมวิธีที่สามารถดำเนินการถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป โดยจะเป็นการผลิตสารสกัดโปรตีนและแคลเซียมคาร์บอเนตจากเมือกหอยมุกและผงเปลือกหอยมุกจาก 3 พันธุ์ ได้แก่หอยมุกกัลปังหา (Pteria penguin) หอยมุกขอบดำ (Pinctada margaritifera) และหอยมุกจาน (Pinctada maxima) และศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการตลาดของของผลิตภัณฑ์จากเมือกและผงเปลือกหอยมุก ผลปรากฏว่า พบว่าสารสกัดโปรตีนจากผงเปลือกหอยมุก ทั้ง 3 สายพันธุ์ มีลักษณะเป็นผงแห้งสีขาวถึงขาวนวล สามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดี มีกรดอะมิโนที่สำคัญสามารถออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ไฟโบรบลาสต์บนผิวหนังของมนุษย์ได้ดี ส่วนการสกัดคอลลาเจนจากเมือกหอยมุก พบว่ามีปริมาณคอลลาเจนอยู่ในช่วง 17- 44 % จึงมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ สามารถออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินในเซลล์ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล Nation Center for Biotechnology Information

สำหรับความสำเร็จสู่การนำไปใช้ หรือ ประโยชน์ที่เกิดจากงานวิจัย คือ ได้กระบวนการสกัดและสารสกัดจากโปรตีนจากผงเปลือกหอยมุกและสารสกัดคอลลาเจนจากเมือกหอยมุก ที่สามารถนำไปใช้เป็นสารป้องกันแสงแดดในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ดี
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories