วช. เดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการรหัส DOI หนุนงานวิจัยไทย เชื่อมโยงสู่ความสำเร็จระดับสากล

วช. เดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการรหัส DOI หนุนงานวิจัยไทย เชื่อมโยงสู่ความสำเร็จระดับสากล













วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานสัมมนา “ยกระดับการบริการ DOI เพิ่มกลไกการใช้ประโยชน์ข้อมูล ววน.” เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม มีความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของรหัส DOI (Digital Object Identifier) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รองศาสตราจารย์ธีระศักดิ์ หมากผิน ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมด้วยนายรุ่งเรือง มากสกุล ผู้พัฒนาระบบ บริษัท ซิมพลี ไบรท์ ซิสเต็ม จำกัด เป็นวิทยากรบรรยาย มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 230 คน ณ ห้อง Cattleya โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการบูรณาการและการเชื่อมโยงระบบข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม โดยพัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและเป็นศูนย์สารสนเทศกลางเพื่อบริการข้อมูลแก่หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำโครงการการบริหารจัดการตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier - DOI) และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรรับจดทะเบียน (RA) DataCite ในปัจจุบัน วช. ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน DOI คือ ระบบ NRCT’s Local Handle System โดยการออกรหัส DOI ให้กับงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และบทความวารสาร แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ รูปภาพ ภาพยนตร์ แอนนิเมชัน เสียง เอกสาร และวัตถุดิจิทัลอื่นๆ รวม 7 ประเภท ทั้งนี้ วช. ได้พัฒนาระบบการออกรหัส DOI จากหน่วยงานตัวแทนสำหรับ วช. ซึ่งประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1. หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. สำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 4. สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมีการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อขยายการให้บริการออกรหัส DOI ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การยกระดับการบริการ DOI เพิ่มกลไกการใช้ประโยชน์ข้อมูล ววน. ไม่เพียงแต่จะช่วยในการระบุและติดตามผลงานวิจัยได้อย่างแม่นยำ แต่ยังถือเป็นการช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ข้อมูลวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
Print

Categories