วช. และเครือข่ายนักวิจัย เสวนา “รับมือด้านสุขภาพ จากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วช. และเครือข่ายนักวิจัย เสวนา “รับมือด้านสุขภาพ จากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วันที่ 12 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “รับมือด้านสุขภาพ จากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ ในรูปแบบ Video Conference ผ่านโปรแกรม Zoom และ Facebook live ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่ป้องกันและรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม สู่การแก้ไขปัญหานี้อย่างทันท่วงที ซึ่งผู้ร่วมเสวนาเป็นวิทยากรที่มีประสบการณ์ ประกอบด้วย ศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เกียรติดำเนินการเสวนา พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ. นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ทั้ง 2 ช่องทาง จำนวน 207 ราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 วช. และทีมนักวิจัยตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงจัดงานเสวนา “รับมือด้านสุขภาพ จากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook live เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นการรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งฝุ่น PM2.5 มีความแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านแหล่งที่มาของมลพิษ ด้านลักษณะภูมิประเทศ ด้านสภาพอุตุนิยมวิทยาและสภาวะอากาศ รวมทั้งความหนาแน่นของจำนวนประชากร ซึ่งฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งกิจกรรมเสวนาวิชาการ วช. และเครือข่ายนักวิจัย ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการรับมือด้านสุขภาพ จากฝุ่น PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนในการเฝ้าระวัง การเผชิญเหตุ เมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ และข้อควรปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในช่วงเวลาวิกฤตของพื้นที่การจัดการพื้นที่ SAFE ZONE หรือพื้นที่ปลอดฝุ่น ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชน เฝ้าระวัง ป้องกันฝุ่น PM2.5 สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก อันจะนำไปสู่ “สุขภาพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี”
โดยการเสวนามีหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
หัวข้อ “รู้ไว รู้ทัน ป้องกันตนเอง ด้วยนวัตกรรม DustBoy” รศ. ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี DustBoy เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กจะช่วยให้ทราบข้อมูลฝุ่นแบบ Real-time อันนำไปสู่การวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันตน จากอันตรายของฝุ่นควัน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้แผนงานท้าทายไทย: Haze Free Thailand ซึ่งปัจจุบันได้มีการติดตั้งทั่วประเทศผ่านเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเป็นเครื่องมือเฝ้าระวัง โดยมีการรายงานผลการตรวจวัดแบบใกล้เคียงเวลาจริง ผ่าน “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ทั้งในรูปแบบ เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ และ LINE
หัวข้อ “รับมือไฟป่าและฝุ่นควันข้ามพรมแดน” นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาอากาศเป็นพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อประชากรของโลกเป็นวงกว้างในหลายประเทศ ซึ่งปัญหานี้นับว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต มลพิษในอากาศแฝงไปด้วยอันตราย ไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 แต่ยังมี PM0.1 สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ แบคทีเรียและไวรัส เมื่อสูดหายใจเข้าไปสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย ซึ่งเราควรตระหนักรู้และรับมือ ลดการสร้างมลพิษทางอากาศ เช็คคุณภาพอากาศภายนอกสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการเปิดรับอากาศที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
หัวข้อ “เฝ้าระวังฝุ่นในเมือง การป้องกันและดูแลสุขภาพที่เหมาะสม” รศ. นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย ทั้งโรคในระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ รวมถึงโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดในสมอง เมื่อปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเราควรป้องกันตนเองจากฝุ่นควัน โดย หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดโอกาสการสูดดมฝุ่น ใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ได้แก่ หน้ากากอนามัย N95 และหน้ากากอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เช่น KF94, KN95
หัวข้อ “ระบบการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข รับวิกฤตฝุ่นควันครบวงจร” ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าความจำเป็นในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูล เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สู่การวางแผนบริหารทรัพยากรทางด้านสาธารณสุข ในการคัดกรองจำนวนผู้ป่วยสู่การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปยังโรงพยาบาลระดับใหญ่เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นกว่าปกติ โดยพัฒนาระบบการเชื่อต่อข้อมูลของผู้รับบริการในเครือข่ายโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบ
ศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการเสวนาในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นรู้ สร้างความเข้าใจถึงเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับความรู้และความเข้าใจมากยิ่งขึ้นพร้อมรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5
จากการเสวนาครั้งนี้ สรุปเป็นแนวทางการรับมือฝุ่น PM2.5 เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ ประกอบด้วย การตั้งสติ ติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินวิธีการในการรับมือกับฝุ่นเบื้องต้นที่เหมาะสม เช่น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ทั้งในรูปแบบที่ผลิตขายเชิงพาณิชย์ และแบบประดิษฐ์เองโดยควรควบคู่กับการทดสอบด้วยเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ และควรมีการระบายอากาศเมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานคลี่คลาย ซึ่งสิ่งที่ควรตระหนักคือ ต้องไม่สร้างฝุ่น PM2.5 ภายในบ้านทั้งจากการสูบบุหรี่ และการหุงต้ม รวมถึงการเลือกหน้ากากที่มีประสิทธิภาพ และการใส่ที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น ทั้งนี้ควรระมัดระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หรือฝุ่น PM2.5 ในอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้