วช. โดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สานพลังเสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธร

วช. โดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สานพลังเสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธร












​วันที่ 16 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดประชุมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นางจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ รศ. ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และมี ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการประชุม ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

​ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายการทำงานเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเป็นสิ่งจำเป็น โดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน วช. ได้สนับสนุนการพัฒนาศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคม การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
​นางจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มุ่งเน้นการป้องกัน ปราบปราม และตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งการป้องกันการทุจริต จะมุ่งให้ความสำคัญกับ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การปลูกฝังความซื่อสัตย์ ปลุกจิตสำนึก และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อลดปัญหาการทุจริต โดยปัจจุบันหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถส่งเบาะแสปัญหามายังศูนย์เฝ้าระวัง CDC เพื่อให้ศูนย์ดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกและลดความเสียหาย
​นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Building Bridges:Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem” โดย Professor Matthew C. Stephenson จาก Harvard Law School ซึ่งได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและประชาชนในการสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ โดยระบุว่าการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจร่วมกันเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ต่อเนื่องด้วยการเสวนาในหัวข้อ “การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดยมี Ms. Annika Wythes ที่ปรึกษาภูมิภาคด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน จาก UNODC พันตรีหญิง นิมมาน์ แก่นกำจรสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พันตำรวจตรีหญิงมนัสนันท์ กันทะสี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร่วมเสวนาซึ่งจากการเสวนาได้ข้อสรุปว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทยอย่างยั่งยืนสามารถทำได้ด้วยการพัฒนาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกความร่วมมือที่เข้มแข็งต่อไป
Print

Categories