วช. โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC) จัดประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
วันที่ 30 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี และว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และรองศาสตราจารย์ ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการกำกับและติดตามการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้แทนหน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมคงการ์เด้นท์วิวรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และปัญหาฝุ่น PM2.5 วช. ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และนำไปสู่การริเริ่มก่อตั้งศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และ ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) โดยประเด็นเรื่องฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ เกิดเป็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC)” โดยมี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี และได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ปัจจัยหลักของปัญหาประกอบไปด้วย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา และแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ สำหรับปัจจัยทางกายภาพ ส่วนแหล่งกำเนิดหลักมาจากการเผาในที่โล่ง เช่น เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และไฟป่า ทั้งที่เกิดจากพื้นที่ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนได้ช่วยในการสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่น PM2.5 เช่น นวัตกรรมการเตือนภัย การเฝ้าระวังฝุ่น การบำบัดฝุ่น การวิเคราะห์องค์ประกอบฝุ่นเพื่อการบ่งชี้แหล่งกำเนิดการประเมินมาตรการ ผลกระทบในด้านต่าง ๆ รวมถึงการบริหารจัดการฝุ่นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการที่สำคัญให้กับกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานปกครองในระดับพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ประกอบการวางแผน และพัฒนาแนวทางมาตรการในการรับมือฝุ่น PM2.5 และเพื่อไขข้อข้องใจ ในการจัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในครั้งนี้
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC) ได้จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 โดยผู้เชี่ยวชาญที่จะมานำเสนอข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่น PM2.5 การจัดการกับปัญหาไฟป่าและการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งเรื่องหมอกควันข้ามแดน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนางานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ และผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ อันจะนำไปสู่ “การจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่ออากาศสะอาดสำหรับทุกคน”