อว. จัดบรรเลงเพลงใต้ สร้างสรรค์จินตนาการผ่านเสียงใหม่ที่เมืองตรัง

  • 4 June 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 468
อว. จัดบรรเลงเพลงใต้ สร้างสรรค์จินตนาการผ่านเสียงใหม่ที่เมืองตรัง
วันที่ 2 มิถุนายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนโครงการ “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่” แก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ในการจัดแสดงดนตรี “เสียงใหม่ที่เมืองตรัง” บรรเลงโดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา (Thai Symphony Orchestra) โดยมี ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดการแสดง พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ร่วมรับชมการแสดง พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมรับชมการแสดงครั้งนี้ด้วย ซึ่งมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ให้การต้อนรับ บรรยากาศภายในงาน นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเข้าร่วมรับชมการแสดงในครั้งนี้ พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัดและประชาชนบริเวณใกล้เคียงเข้าร่วมชมจำนวนมาก ณ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. ขอชื่นชมโครงการวิจัยเรื่อง “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่” ซึ่งมี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นหัวหน้าโครงการฯ ที่สามารถทำงานวิจัยให้ได้ยินเสียงจริง ๆ รู้สึกสัมผัสถึงเสียงได้จริงและทุกคนที่ได้ฟังต่างมีความสุข ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ฟัง ได้สัมผัสกับความเบิกบานใจในทุกพื้นที่ที่ได้ทำการแสดง ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยที่สัมผัสได้จริง และเป็นงานวิจัยที่มีรอยยิ้ม โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้สร้างปรากกฏการณ์ใหม่ให้แก่สังคมไทยและวงการดนตรีของไทย เพราะเพลงคลาสสิกไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพลงของชาวตะวันตกอีกต่อไป

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ในการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่” โดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นหัวหน้าโครงการฯ ด้วยการนำเพลงพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เสนอให้เป็นงานต้นแบบของการวิจัยดนตรี การศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยอาศัยบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน อาศัยร่องรอยของบทเพลงที่มีศิลปินในพื้นที่สืบทอด การแสดงดนตรีในครั้งนี้จัดขึ้นที่สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง มีการนำเสียงของวัฒนธรรมเมืองตรัง ชาวเล เพลงแขก จีน เพลงฝรั่งจากยุโรป เพลงท้องถิ่น เสียงที่ผสมผสาน ซึ่งเป็นเสียงที่มีอยู่แล้วโดยอาศัยเสียงจากธรรมชาติ มานำเสนอในรูปแบบเสียงดนตรีของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา โดยอาศัยศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของนักดนตรีที่มีฝีมือ ทั้งเครื่องดนตรีในท้องถิ่นและเครื่องดนตรีสากล ทำเสียงใหม่ให้ลงตัว ซึ่งการสร้างสรรค์เสียงดนตรีใหม่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม เป็นมรดกของสังคมที่ได้สืบทอดกันมานาน และเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าของชุมชนและการสืบทอดต่อไปในโลกอนาคต

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ดำเนินโครงการ “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่” ที่ผ่านมาได้ทำการแสดงดนตรีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง และครั้งนี้ได้มาแสดงที่สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง โดยการแสดงเสียงใหม่ในครั้งนี้ นอกจากการบรรเลงเพลงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราแล้ว คณะทำงานได้เชิญกวีและวงดนตรีท้องถิ่นของเมืองตรังมาร่วมแสดง อาทิ สมเจตนา มุนีโมไนย (พันดา ธรรมดา) จิระนันท์ พิตรปรีชา และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาอ่านบทกวี เล่าความเป็นมาของเมืองตรัง ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณี, การบรรเลงเพลงจากวงรองเง็งเสียงใหม่, การแสดงของคณะนางรำรองเง็งจากอำเภอปะเหลียน, การขับร้องเพลงอินโดนีเซีย จากนักร้องกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ท่านทูตระฮ์มัต บูดีมัน (H.E. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนิเชียประจำประเทศไทย ปิดท้ายที่วงปล่อยแก่จากจังหวัดยะลามาร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย

สำหรับโครงการ “วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่” วช. ได้สนับสนุนทุนแก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดย รศ.ดร. สุกรี เจริญสุข ในการทำวิจัยเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม “ดนตรีพื้นบ้าน” ที่กำลังสูญหายไป และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ในบริบทที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ดนตรีพื้นบ้านเป็นอัตลักษณ์ไทยที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม สามารถบอกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ชองชุมชน สถาปัตยกรรม วรรณคดี ความเป็นอยู่ของชุมชนในอดีต และให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จะถูกลืมเลือนหายไป โดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้จัดบรรเลงเพลงพื้นบ้านในทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ละเมืองก็จะมีบทเพลงท้องถิ่น มีศิลปินชาวบ้านได้ร่วมการแสดง งานวิจัยดนตรีเป็นการนำเสนอเรื่องราวในอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นทางเลือกให้กับวิถีชีวิต ชุมชนและท้องถิ่น ในปี 2566 มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้จัดแสดงดนตรีตามหัวเมืองใหญ่มาแล้ว 3 เมือง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดลำปาง และจังหวัดตรัง และครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้ เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook Fanpage : มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories