คนกรุงเทพเดินทางเพิ่มขึ้นมาก เตรียมรับมือเปิดเทอม
(30 มิถุนายน 2563) ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา และศูนย์ปฏิบัติการด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ของ ศบค. โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เปิดเผยผลการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า หลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายให้กิจการต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินการได้แล้วรวม 4 ระยะ พบว่า ปริมาณการเดินทางสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากที่ลดลงต่ำสุดในเดือนเมษายน หลังจากนั้นได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนปกติก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในขณะนี้รถติดเพิ่มขึ้น โดยในวันพรุ่งนี้ (1 กรกฎาคม 2563) จะเริ่มมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 โดยเฉพาะการเปิดเทอมเป็นวันแรก คาดการณ์ปริมาณการเดินทางจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้
- การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลหลังจากลดลงต่ำสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมนั้น ในขณะนี้ได้กลับมาอยู่ในระดับ 92% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี และได้มีปริมาณสูงกว่าในช่วงวันก่อนใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้วกว่า 9%
- การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยรวมซึ่งลดลงต่อเนื่องในปลายมีนาคม-เมษายน ปัจจุบันกลับมาอยู่ระดับ 55% เมื่อเทียบต้นปี และมีปริมาณเท่ากับเมื่อก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว
เมื่อแยกเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละรูปแบบแล้ว
- การใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางถนน อยู่ในระดับ 54% และทางราง อยู่ในระดับ 62% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี และเท่ากับเมื่อก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว
- ส่วนการเดินทางทางน้ำมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อยู่ที่ระดับ 31% เมื่อเทียบต้นปี และเป็นระดับใกล้เคียงการเดินทางกลางเดือนมีนาคม
- ทั้งนี้การเดินทางโดยทางเครื่องบิน ยังต่ำกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ ขณะนี้ยังอยู่ในระดับ 29% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี และเป็นการเดินทางระดับใกล้เคียงกลางเดือนมีนาคม
คาดว่าเมื่อเปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลและระบบขนส่งสาธารณะจะเพิ่มมากขึ้นอีกและเข้าสู่ภาวะปกติก่อนที่มีเหตุการณ์โควิด-19
ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม