ถือเป็นมหกรรมระดับชาติที่คนไทยทั้งประเทศจะพลาดไม่ได้จริงๆ เมื่อ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประสานกำลังอย่างแข็งขันกับ กระทรวงพลังงาน จัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม “เพลินพลังงาน งานวิจัยขายได้”ตั้งแต่วันนี้-27 มีนาคม 2559 ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ตามที่ วช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลนำผลงานวิจัยที่พร้อมขาย มาจัดจำหน่ายในราคาพิเศษที่ตลาดนัดชุมชน บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากงานขายมาสร้างสีสันและสร้างประโยชน์กับผู้ชมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน โดยในครั้งนี้ทาง วช. ได้นำผลงานอันเกิดจากความคิดมันสมองและสองมือของนักวิจัยไทยมาอวดโฉมมากกว่า 100 ผลงาน
เช่น ครีมบำรุงผิวจากสารสกัดทานาคาผสมไวตามินอี นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยจากข้าวตอก ผ้าทอพื้นบ้านจากเส้นด้ายใยลูกตาล การผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดส้มแขกและชาเขียวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง น้ำข้าวกล้องงอก ผลิตภัณฑ์จากข้าวซ้อมมือ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การวิจัยเพื่อสร้างความรู้และอาชีพ เช่น การทำกระเป๋าจากเนคไท น้ำปรุงใบข้าวหอม ไหมไทย สบู่ข้าวหมกไหมไทย แป้งร่ำผัดหน้าข้าวหอมไหมไทย การทำข้าวปั้นญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ข้าวตังหน้าตั้ง เป็นต้น
สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
โดยไฮไลท์ที่ถือเป็นสุดยอดของงานในครั้งนี้ที่พลาดชมไม่ได้คือ “ผลิตภัณฑ์กระเป๋าหญ้าแฝก” ซึ่งได้รับการยกย่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด “กระเป๋าใบเดียวในโลก” ที่เมื่อสานและขึ้นรูปกระเป๋าแล้วมีความงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ลวดลายที่ปรากฏไม่ซ้ำกันเลยสักใบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากการวิจัยพัฒนาของ ผศ.รจนา จันทราสา สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวพระราชดำริในการนำหญ้าแฝกมาแก้ปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยจะมีหญ้าแฝกที่ถูกตัดยอดทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงเกิดไอเดียเด็ดนำใบหญ้าแฝกที่ถูกตัดมาทำเป็นกระเป๋าสานสุดเริ่ดไม่เหมือนใคร โดยเข้าไปส่งเสริมกลุ่มแม่บ้านแกใหม่ กลุ่มแม่บ้านก๊อกซาว และกลุ่มแม่บ้านดอนชัย จ.พะเยา ที่มีฝีมือในการประดิษฐ์เครื่องหัตถกรรมอยู่แล้ว ให้เป็นผู้ผลิตกระเป๋าหญ้าแฝก
สำหรับกระเป๋าหญ้าแฝกนั้น เป็นการนำหญ้าแฝก ฝ้าย และเส้นไหม มาผลิตรวมกัน โดยใช้หญ้าแฝกเป็นวัตถุดิบในการสานกระเป๋า และใช้ฝ้ายมาย้อมสีธรรมชาติเพื่อสร้างสีสันให้กระเป๋ามีความสวยงาม แถมเพิ่มความโดดเด่นให้กระเป๋าด้วยการนำไหมซึ่งมีคุณสมบัติมันวาวอยู่แล้ว มาร้อยประดับในกระเป๋าสร้างความโดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยวิธีธรรมชาติ และด้วยความที่จ.พะเยา มีหนังที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ทางทีมนักวิจัยและผู้ออกแบบจึงใช้หนังมาเพิ่มเป็นเลเยอร์ของกระเป๋าอันเป็นการสร้างมูลค่าให้สินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง
ชมพู่ทับทิมจันทร์ ที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าพร้อมส่งออก
รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ภาคประจำวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำผลงาน ชมพู่ทับทิมจันทร์ ผลไม้ลือชื่อจังหวัดราชบุรี มานำเสนอ ซึ่งชมพู่ทับทิมจันทร์ในขณะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ในแต่ละปีส่งขายออกยังตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ด้วยในภาวะปัจจุบันสภาพแวดล้อมมีความเปลี่ยนไป สภาพดินฟ้าอากาศมีความแปรปรวนจึงทำให้ผลชมพู่ชนิดนี้ไม่มีความสวยงาม สีของผลขาวซีดไม่ชวนรับประทาน ขนาดผลไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ทันสำหรับการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ดังนั้นจึงคิดค้นแผ่นฟลอยด์ ชนิดหนึ่งขึ้นมาที่มีประสิทธิภาพในการห่อคลุมผลชมพู่ให้มีสีแดงสวยเสมอกัน และข้างในเนื้อชมพู่ก็มีสีแดงน่ารับประทาน แถมแผ่นฟลอยด์ที่คลุมอยู่นั้นยังทำให้ชมพู่มีผลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากไม่ได้รับการรบกวนจากศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์เกษตรกรได้ราคาดีขึ้นอีกด้วย
ผศ.รจนา จันทราสา เจ้าของผลงานวิจัยพัฒนากระเป๋าหญ้าแฝก
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจาก 100 ผลงาน อันเกิดจากความคิดและมันสมองของนักวิจัยไทยที่ทุ่มกำลังอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน น่าชื่นใจที่ ในวันนี้ งานวิจัยได้ โยกจากความสง่างามและทรงภูมิจากบนหิ้ง โน้มลงมาสู่ห้าง สู่ตลาด ที่พร้อมขายซึ่งเหล่านักวิจัยพร้อมนำมาจัดแสดงและจำหน่ายในราคาพิเศษ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล ในงาน ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม “เพลินพลังงาน งานวิจัยขายได้” ตั้งแต่วันนี้-27 มีนาคม 2559 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น. และในวันเสาร์-อาทิตย์ ขยายเวลาช็อปถึง 20.00 น.
2 total views, 2 views today