มทร.ธัญบุรี ผลิตเสียงบรรยายภาพ ช่วยเปิดโลกสำหรับผู้พิการทางสายตา ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ

  • 20 May 2021
  • Author: Wanchaloem
  • Number of views: 1430
มทร.ธัญบุรี ผลิตเสียงบรรยายภาพ ช่วยเปิดโลกสำหรับผู้พิการทางสายตา ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ

โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการและความสะดวกสบายของมนุษย์ผู้ใช้งานยุคไอที ในขณะที่ผู้พัฒนาบางส่วนได้ลืมไปว่าในสังคมนี้ยังมี "ผู้พิการทางสายตา" ที่ต้องการนวัตกรรมขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป โทรทัศน์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสื่อที่ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมและรับฟังข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงได้กับผู้ชมทุกเพศทุกวัย และในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถรับชมได้ทางออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ บนจอมือถือ บนแท็บเลต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่น ๆ ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้สะดวก รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของแต่ละคนมากขึ้น แต่เคยสงสัยไหมว่าผู้พิการทางสายตา ดูโทรทัศน์อย่างไร เมื่อผู้พิการทางสายตารับชมรายการโทรทัศน์ จะเข้าใจเรื่องราวและเนื้อหาได้หรือไม่ เพราะโทรทัศน์เป็นสื่อที่เล่าเรื่องด้วยภาพ

                   และความสงสัยนี้ ทำให้อาจารย์กุลภัสสร์ กาญจนภรางกูร สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำเสนอผลงาน “ผลิตเสียงบรรยายภาพในคลิปวีดิโอหนังสั้น เพื่อผู้พิการทางสายตา” ขึ้น จนได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ งาน “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 – 17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้คัดเลือกผลงานวิจัยเข้าร่วมในการประกวดในครั้งนี้

                   อาจารย์กุลภัสสร์ เปิดเผยว่า สื่อเสียงบรรยายภาพ Audio Description (AD) คือ สื่อชนิดหนึ่ง มีขึ้นเพื่อผู้พิการทางสายตาให้สามารถเข้าใจเนื้อหาของสื่อที่ต้องการับชมได้มากยิ่งขึ้น ลักษณะของเสียงบรรยายภาพ คือการบรรยายด้วยเสียงในช่วงที่ไม่มีการพูดคุย ไม่มีการสนทนา ซึ่งเป็นช่องว่างของวีดีโอนั้น ๆ ผู้พิการทางสายตาจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าในระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง เสียงบรรยายภาพจะมีหน้าที่ทำให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ว่าเหตุการณ์ในฉากนั้นดำเนินไปอย่างไรตัวละครกำลังทำอะไร ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจในเนื้อหาสาระของเรื่องการศึกษาจะเริ่มจากการนำคลิปวีดิโอหนังสั้น มาตรวจดูเพื่อหาช่องว่างระหว่างบทสนทนาของตัวละครหรือเสียงบรรยาย เพื่อให้ได้ระยะเวลาของช่องว่างที่จะสามารถใส่เสียงบรรยายภาพลงไปได้ ต่อมาซึ่งมีการเขียนบทเสียงบรรยายภาพ เมื่อได้บทเสียงบรรยายภาพเรียบร้อยแล้ว จึงทดลองลงเสียงและอาจมีการปรับการใช้คำหรือประโยคให้พอดีกับช่องว่างของเวลา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการพิจารณาการใช้คำที่เหมาะสม และผู้พิการทางสายตาสามารถที่จะเข้าใจได้ รวมถึงการใช้ประโยคที่มีความพอดีกับช่องว่างของเวลา ให้ได้ประโยคที่มีความหลากหลายและผู้ฟังเข้าใจ หลังจากนั้นทำการบันทึกเสียง และเข้าสู่โปรแกรมตัดต่อเพื่อให้ภาพและเสียงบรรยายให้มีความสัมพันธ์กัน และทำการตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งจนเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ 

                   ในภาควิชาเทคโนโลยีภาพและเสียง มีผลงานที่ผลิตโดยฝีมือของนักศึกษาเป็นจำนวนมาก และมีความน่าสนใจ สื่อวีดีโอชิ้นนี้เป็นผลงานของนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์  ได้นำมาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลงาน สื่อดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์และศึกษางานวิจัย แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาฝึกฝนให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาได้เห็นว่า ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่นอกจาก ช่างภาพ นักตัดต่อ

ผู้ประกาศ และนักข่าวเท่านั้น ผู้ผลิตเสียงบรรยายที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความน่าสนใจ และทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน

                   ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า  วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมการประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติต่อเนื่อง ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน และเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตราฐานเกิดการยอมรับจากผู้ใช้งาน และเป็นที่ต้องการทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories