สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2561 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ของประเทศ” ในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เวลา 09.00 น.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2561 ขึ้น เพื่อเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นตลอดจนการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยแก่อาจารย์และนักศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้มีทักษะและสามารถเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจ
ให้เยาวชนสายอาชีวศึกษาเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในเชิงนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสังคมได้ ซึ่ง วช. ได้ร่วมมือกับ สอศ.
ในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาอาชีวศึกษา โดยเน้นการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาให้เข้มแข็งบนพื้นฐานสติปัญญา ความรู้ ฐานเทคโนโลยีและคุณธรรม จริยธรรม พร้อมทั้งกระตุ้นและส่งเสริมนักวิจัยในสายอาชีวศึกษาให้มีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ในปีงบประมาณ 2561
วช. ได้กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าว ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมนิภาการ์เด้น จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยในปีนี้ ได้จัดแบ่งกลุ่มเรื่อง เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ใน 5 กลุ่มเรื่อง ดังนี้ 1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 4) กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม การศึกษาและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5) กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
การจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายในการบ่มเพาะ
นักประดิษฐ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษาที่อยู่ในภาคเหนือจำนวนกว่า 400 คน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และจิตสำนึกในการเป็นนักประดิษฐ์ รวมถึงเทคนิคการสร้างผลงานตามศาสตร์พระราชา แนวคิดในการสร้างผลงานนวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์และสิ่งประดิษฐ์ที่ได้มาตรฐาน ทรัพย์สินทางปัญญา/สิทธิบัตร/และอนุสิทธิบัตร รวมถึง Start up ธุรกิจวิจัยสิ่งประดิษฐ์ โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะมีทักษะ ในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยอย่างเป็นระบบ และสามารถต่อยอดผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ชมภาพเพิ่มเติมได้ที : https://www.facebook.com/pg/nrctofficial/photos/?tab=album&album_id=1404019403056961