วช. ดัน “เครื่องควบคุมการให้อาหารทางสายยาง” หวังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยติดเตียง

  • 22 June 2021
  • Author: Wanchaloem
  • Number of views: 2041
วช. ดัน “เครื่องควบคุมการให้อาหารทางสายยาง” หวังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยติดเตียง

          ผู้ป่วยติดเตียง เป็นผู้ป่วยที่ขยับตัวได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่น ๆ ได้เลย
จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ อาหารการกินของผู้ป่วยติดเตียงนั้นสำคัญมาก เพราะสิ่งที่พบบ่อยก็คือ “ภาวะกลืนลำบาก” เสี่ยงต่อการสำลักในขณะรับประทานอาหาร อาจจะทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อเนื่องจากมีเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม อันตรายถึงชีวิตได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงปัญหาสุขภาวะของผู้ป่วยติดเตียง จึงได้สนับสนุนทุนโครงการทุนท้าทายไทยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย นวัตกรรม “เครื่องควบคุมการให้อาหารทางสายยาง” แก่ อาจารย์ ดุสิต สุขสวัสดิ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

          อาจารย์ ดุสิต สุขสวัสดิ์ เปิดเผยว่า การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายและทุนทรัพย์ในการดูแลสูงมาก และต้องดูแลไปจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต จึงต้องจัดหาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อมาช่วยผู้ป่วยติดเตียงและลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง เครื่องช่วยให้อาหารเหลวผ่านทางสายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถุงที่ใส่อาหารทำจากยางพาราในประเทศไทย มีราคาอยู่ที่ 30 บาท แต่ปัญหาคือเครื่องทุกเครื่องในประเทศไทยไม่สามารถให้อาหาร จากถุงที่ทำจากยางพาราได้ และถ้าต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ที่บ้าน ไม่มีเครื่องให้อาหารต้องใช้สลิงอัดใส่สายยางเข้าท้องผู้ป่วยเลย ซึ่งปัจจุบันหลายคนกำลังทำแบบนี้อยู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากอาหารของผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถย่อย ได้ อาทิ การกินน้ำแก้วหนึ่ง คนปกติดื่มใช้เวลา 5 วินาที ในการกลืน แต่ผู้ป่วยติดเตียง การกินน้ำแก้วหนึ่งจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการกิน แต่น้ำไม่ใช่อาหาร อาหารต้องค่อย ๆ ให้ทีละนิด และเหตุนี้เองนักวิจัยจึงสร้างเครื่องนี้ขึ้น

          เครื่องควบคุมการให้อาหารทางสาย ถือเป็นเครื่องแรก และเครื่องเดียวในประเทศไทย  เกิดจากอุปกรณ์ที่มีการนำระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้เครื่องให้อาหารเหล่านี้ มีประสิทธิภาพ ในด้านการใช้งานมากขึ้น เช่น สามารถพกพาติดตัวไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้ เนื่องจากตัวเครื่องได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบชาร์จไฟในตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟเมื่อต้องการใช้งานและตัวเครื่องถูกออกแบบให้สามารถต่อสายยางเข้ากับถุงบรรจุอาหารเหลวชนิดสูญญากาศได้ทันที จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือโอกาสแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุติดเตียง ที่เกิดจากอากาศภายนอกเข้าไปสัมผัสกับอาหารเหลวของผู้ป่วย

          การนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลตำรวจแห่งชาติ ผลปรากฎว่า ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือโอกาสแทรกซ้อนจากการให้อาหารทางสายของผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุติดเตียงได้ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้า เนื่องจากไม่ต้องชาร์จไฟขณะใช้งาน และเครื่องให้อาหารเหลวสามารถใช้กับถุงบรรจุอาหารเหลวชนิดสูญญากาศ และสายยางให้อาหารที่มีราคาถูกได้ สำหรับผู้ที่สนใจ นักวิจัยบอกว่าเครื่องควบคุมการให้อาหารทางสาย สามารถให้ผู้ป่วยติดเตียงยืมไปใช้ก่อนได้ โดยให้ติดต่อผ่านทาง เฟซบุ๊คแฟนเพจ : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          ดร.วิภารัตน์   ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงทำให้ประเทศสามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขัน อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

Print
Tags:
Rate this article:
4.5

Categories