วช. นำงานวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับภาคการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

  • 13 June 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 579
วช. นำงานวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับภาคการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และส่งมอบกล้าพันธุ์แอสเตอร์ปลอดเชื้อ และชุดเร่งการผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพสูง แก่วิสาหกิจชุมชนไม้ดอกเหมืองแก้ว ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยในการผลิตปุ๋ย และการพัฒนาปัจจัยการยกระดับพัฒนาปัจจัยการยกระดับศักยภาพการผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ ให้แก่เครือข่ายกลุ่มเกษตร โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในเปิดกิจกรรม

ในการนี้ ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้กล่าวรายงาน ถึงภาพรวมการดำเนินงานและเป้าหมายของโครงการในการยกระดับการเกษตรของพื้นที่ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งผู้เข้าร่วมงานที่ได้รับประโยชน์จากววน.ในพื้นที่ ได้แก่ นางสาวณวิสาร์ มูลทา เจ้าของ Love Flower Farm ได้กล่าวสรุปถึงการไดรับโอกาสจากโครงการและการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนจากการสนับสนุนของ วช. และ วว.

นอกจากนี้ นายเสถียร จันทรา และนายทองคำ หันธาแดง รองนายกเทศมนตรีตำบลเหมืองแก้ว ได้ให้การต้อนรับคณะจาก วช.และวว. พร้อมกล่าวถึงบทบาทของพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือและส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจ พร้อมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงษ์ จันจุฬา จากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ,เกษตรจังหวัด และกลุ่มกษตรกร ได้ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิสาหกิจผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ วว. ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการการยกระดับการปลูกเลี้ยงพืชกลุ่มแอสเตอร์ด้วยนวัตกรรมการขยายพันธุ์พืชปลอดโรคเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม สร้างอาชีพใหม่ในชุมชนและท้องถิ่น ชุมชนเกิดกระบวนการพัฒนาและต่อยอดกลุ่มวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เกษตรกรหรือชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกพืช ผ่านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้ อีกทั้งเกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่สามารถพัฒนาให้มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 20% ตลอดกระบวนการผลิต เป็นต้น

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า ในปี 2565 วว. ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก วช. ในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งได้ดําเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตไม้ดอกในชุมชนเหมืองแก้ว แล้วจึงนํานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ค่าดิน เพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาขยายพันธุ์ต้นกล้าปลอดโรค ที่มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อแมลงศัตรูพืช และการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงประมาณร้อยละ 75 โดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี รวมไปถึงการจัดการการระบาดของโรคพืช ด้วยการใช้ชีวภัณฑ์ที่เพาะเลี้ยงในถังระดับชุมชน จนทําให้ลดการสูญเสียผลผลิตพืชกลุ่มแอสเตอร์ ได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และยังมีคณะวิจัยหลากหลายหน่วยงานในการดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญญบุรี มหาวิทยาราชมงคลอิสานวิทยาเขตสกลนคร และหน่วยงานในพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตแม่พันธุ์ปลอดโรคด้วยระบบไบโอรีแอคแบบจมชั่วคราว เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงของ วว. เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อวัสดุปลูกเลี้ยงพืช เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคในดินและวัสดุปลูก และเทคโนโลยีการผลิตกล้าปลอดโรคเชิงพาณิชย์ ในปี 2563 - 2564 มาช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจผลิตไม้ดอกกลุ่มแอสเตอร์ ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากปัจจุบันคัตเตอร์และมาเร็ต เป็นพืชที่ทำรายได้ให้เกษตรกร อำเภอแม่ริม ที่ปลูกทดแทนการปลูกข้าว โดยเฉลี่ยแล้วปลูกได้ตลอดทั้งปี และเกษตรกรมีรายได้จากปลูกไม้ตัดดอก

นอกจากนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ได้ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ณ พื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติขับเคลื่อนระยะไกล ไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่สูงแบบยั่งยืน (โดรนเกษตร 4G ระบบอัตโนมัติ หรือ อากาศยานไร้คนขับ) ซึ่งเป็นโครงการที่ วช. ให้การสนับสนุนเพื่อนำเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติไปประยุกต์ใช้งานในการพัฒนาพื้นที่สูง ตามโจทย์ตวามต้องการของโครงการร้อใจรักษ์ เพื่อช่วยระบบการผลิตตามโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ ที่มีพื้นที่การเกษตรในโครงการร้อยใจรักษ์หลายพันไร่ ซึ่งมีความต้องการเทคโนโลยีในด้านการให้ปุ๋ย การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพืช พร้อมการกับฝึกสมรรถนะการใช้โดรน การประกอบโดรน พร้อมการดูแลรักษา ซึ่งสามารถพัฒนาทีมงานเกษตรรุ่นใหม่ในการดำเนินงาน ดูแลพื้นที่การเกษตรได้อย่างเป็นระบบ

พร้อมนี้ นายณรงค์ ประธานสายปฏิบัติการงานพัฒนามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมถ์ และนายชัยชุมพล สุริยะศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแม่นยำ พร้อมด้วยเกษตรกรในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ให้การต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ วช. ที่ได้นำเทคโนโลยีที่ตรงตามความต้องการของเกษตรพื้นที่สูงในประเทศไทย การให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยี การมีสถานีควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร การฝึกผู้นำเกษตรกรและเกษตรกรเป็นนักบินโดรนการเกษตร การจัดระบบการใช้โดรนที่ครอบคลุมความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่ ระบบการบริหารงานของกลุ่มเกษตรกรพื้นที่สูงการดูแลและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีโดรน ทั้งนี้ การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืนในการเกษตรพื้นที่สูงของโครงการร้อยใจรักษ์ และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งในใช้เทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งโครงการนี้ได้นำเอาเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ในการใช้งานในพื้นที่สูง โดยสมาคมฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และชาวบ้านในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ในการพัฒนาแปลงเกษตรพื้นที่สูง ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการลงพื้นที่โดยการใช้โดรนทำหน้าที่แทนมนุษย์และยังเข้าถึงพื้นที่ที่มนุษย์เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งการใช้โดรนยังช่วยในการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ ทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การตรวจเยี่ยมพื้นที่ในโครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้ ได้พบกับนักบินโดรนเกษตร ของโครงการร้อยใจรักษ์ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจากโครงการ สามารถสาธิตการสร้างและการใช้งานโดรนเกษตรจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และชาวบ้านในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการร้อยใจรักษ์ ทั้งนี้ยังได้เยี่ยมชมสาธิกการนำโดรนเกษตรกรไปใช้ปฏิบัติงานในแปลงเกษตรพื้นที่สูง อาทิ แปลงดอกลิเซียนทัส สวนลิ้นจี่ สวนส้ม และสวนฝรั่ง ด้วย
Print
Tags:
Rate this article:
4.0

Categories