กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช และตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ทรงมีพระราชดำริให้สำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืชที่มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ดำเนินการการปรับปรุงพันธุ์พืช ในโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาพันธุ์หงส์เหินเพื่อการส่งออก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี และ ดร.ธีรนิติ พวงกฤษ เป็นผู้ดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์พืช ‘หงส์เหิน’ นอกจากนี้ ยังได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหงส์เหินให้เกษตรกรที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์หงส์เหินใหม่ขึ้น ทำให้ได้สายพันธุ์หงส์เหินที่สวยงาม จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ MJNRCT 1 พันธุ์ MJNRCT 2 และ พันธุ์ MJNRCT 3 ก่อให้เกิดเป็นหงส์เหินสายพันธุ์ใหม่
ในการนี้ วช. จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าและขอพระราชทานชื่อหงส์เหินสายพันธุ์ใหม่ จากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘หังสรัตน์’ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
‘หงส์เหิน’ มีชื่อพฤกษศาสตร์ Globba hybrida มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ เป็นพืชกลุ่ม Curcuma มีลำต้นใต้ดินทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหารเรียกว่า เหง้า(Rhizome) ตาข้างของเหง้าจะเจริญเติบโตไปเป็นลำต้นเทียม (pseudomanas) ที่เห็นอยู่เหนือดิน ใบ มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวขอบใบเรียบ และก้านใบจะรวมตัวกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ช่อดอก เป็นแบบช่อแน่น (compact spike) มีใบประดับ (bract) โอบรอบช่อดอกทำให้เห็นใบประดับเรียงซ้อนกันเกิดเป็นช่อที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอก หรือทรงกระสวยภายในเป็นที่อยู่ของดอกจริงประมาณ 2 - 7 ดอก ส่วนใบประดับส่วนบน (coma bract) มีลักษณะรูปร่างและสีสันแตกต่างจากใบประดับปกติ เกสรตัวผู้วงนอกเป็นหมัน 3 อัน ถูกเปลี่ยนรูปเป็นกลีบ 3 กลีบ เรียกว่ากลีบสเตมิโนด (staminode) โดยหนึ่งกลีบเปลี่ยนไปเป็นรูปที่เรียกว่าปาก (lip) สำหรับเกสรเพศเมียอยู่สูงกว่าอับละอองเกสรเล็กน้อย โดยแทรกอยู่ระหว่างอับละอองเกสร ผลและเมล็ด ผลเมื่อพัฒนาจะแบ่งเป็นรูป 3 พู อย่างชัดเจนภายในแต่ละพูเป็นที่อยู่ของเมล็ด ซึ่งมีเมล็ดอยู่ราว 25 -150 เมล็ดขึ้นกับชนิด ผลแก่มีอายุประมาณ 1 - 2 เดือน โดยผลแก่เต็มที่จะมีผนังบาง และใสจนสามารถมองเห็นได้ เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ หรือเมล็ดองุ่นขนาดยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดที่แก่เต็มที่จะมีสีน้ำตาลเข้ม ราก เป็นระบบรากฝอยรากส่วนหนึ่งมีปลายบวมพองออก มีลักษณะเป็นตุ่มทำหน้าที่เก็บสะสมอาหาร