วช. ร่วมกับ กอ.รมน. จ.ศรีสะเกษ ม.มหาสารคาม และ ม.ศิลปากร นำนวัตกรรม “ชุดอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” และ “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม” ตามโจทย์พื้นที่ส่งมอบ ณ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

วช. ร่วมกับ กอ.รมน. จ.ศรีสะเกษ ม.มหาสารคาม และ ม.ศิลปากร นำนวัตกรรม “ชุดอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” และ “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม” ตามโจทย์พื้นที่ส่งมอบ ณ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วย พันเอก สุรณัณ คำอุ่นสาร ผู้แทนรองผู้อำนวยการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบนวัตกรรมโครงการ “การพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยนวัตกรรมชุดอบแห้งผลผลิตเกษตรและชุดผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” และ “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วง ฝรั่งและจิ้งหรีดด้วยการแปรรูปโดยใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม” โดยมี นายสุรพล ศรีพนมธนากร นายอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ

พันเอก สุรณัณ คำอุ่นสาร ผู้แทนรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานประสานงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพิ่มขีดความสามารถ การพึ่งพาและการจัดการด้วยตนเอง โดยนำนวัตกรรมต่าง ๆ ของนักวิจัยไทย มาขยายผลทำให้เกิดการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งในพื้นที่ ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้านผลผลิตทางการเกษตร มีความหลากหลายของผลผลิต และขาดแคลนเทคโนโลยีเสริม จึงได้ร่วมดำเนินการโครงการแก้ปัญหาการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มมูลค่าผลผลิต กับ วช. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.ภาริกา รุ่งพิชยพิเชฐ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ศปป.1 กอ.รมน. ได้ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ ใน จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวตำบลศรีรัตนะ ตลอดจนนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ กอ.รมน. จัดกิจกรรมขึ้นในครั้งนี้นับเป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ภาคพื้นที่จังหวัด ภาคการศึกษาวิจัย และภาคความมั่นคงในการเชื่อมต่องานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพชุมชน แก้ไขปัญหาให้ภาคประชาชนในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ผ่านกลไกการดำเนินงานของ ศปป.1 - 5 และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สนย.)

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนงานเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร รวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตลอดจนเพื่อนำการวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในการปฏิบัติและการถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของ กอ.รมน. นำสู่ชุมชนที่มีศักยภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

กิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานร่วมกับ ศปป.1 กอ.รมน. ซึ่งในปี 2566 วช. ได้สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น โดยกลไกบูรณาการร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย วช. ได้สนับสนุนองค์ความรู้ “ชุดอุปกรณ์ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด” ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม” ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร  ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ชุมชน

Print

Categories