วช. ร่วมกับจังหวัดชุมพร นำเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรพัฒนาสมรรถนะเยาวชน และต่อยอดสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด

  • 7 June 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 612
วช. ร่วมกับจังหวัดชุมพร นำเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรพัฒนาสมรรถนะเยาวชน และต่อยอดสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “เทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ภาคใต้ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2566 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ให้การต้อนรับ โดยนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ได้กล่าวถึงประเด็นความต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดรนของจังหวัดชุมพร ทั้งในด้านการพัฒนาสมรรถนะด้านประดิษฐกรรมให้กับเยาวชนในพื้นที่ และการต่อยอดความรู้เรื่องโดรนแปรอักษรกับการประยุกต์ใช้ในผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยภาคการท่องเที่ยวได้นำความรู้ดังกล่าว ไปต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจของจังหวัดชุมพร พร้อมนี้ยังมีความต้องการใช้เทคโนโลยีโดรนในการบรรเทาสาธารณภัย และโดรนเพื่อการเกษตรในอีกหลายพื้นที่

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพิธีเปิดกิจกรรมประกอบด้วย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ, นายศรีชัย วีระนรพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร, นายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร, นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร, นายอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร, นายสุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย ผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัดชุมพร คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. สื่อมวลชนในพื้นที่และส่วนกลาง ณ เทศบาลเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรนของไทย นับได้ว่าประสบผลสำเร็จในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในการสั่งงานโดรนเพื่อแปรอักษร และสามารถต่อยอดในการใช้ประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในด้านการท่องเที่ยว การช่วยแก้ปัญหาการดูแลระบบการเกษตรในพื้นที่สูง การใช้โดรนในการบรรเทาสาธารณภัย กล่าวได้ว่าเป็น “โดรนแปรอักษรและเทคโนโลยีโดรนเพื่อการขยายผล” เป็นโอกาสที่ดีให้กับการทำงานในหลายภาคส่วน

ภายในงาน มีนักบินโดรนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม “หนูน้อยจ้าวเวหา” และมีการต่อยอดความรู้และประสบการณ์มาร่วมถ่ายทอดความสำเร็จในการนำความรู้เกี่ยวกับการบินและโดรนไปต่อยอดในการศึกษาและประกอบอาชีพ เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน และเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เข้าร่วมการอบรมด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงค่ำระหว่างวันที่ 3-7 มิถุนายน 2566 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้สนับสนุนให้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พร้อมคณะเยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมโดรนแปรอักษร ได้นำการออกแบบซอฟต์แวร์มาจัดการแสดงเพื่อบินโดรนแปรอักษรในรูปต่าง ๆ ณ เหนือท้องฟ้าจังหวัดชุมพร โดยใช้การแสดงโดรนมากกว่า 200 ลำ การแสดงดังกล่าวได้สร้างความตื่นตาตื่นใจและประทับให้กับประชาชนในจังหวัดชุมพรนับพันคนที่มาร่วมรับชมเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้การสนับสนุนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรในภาคใต้ มีกำหนดจัดขึ้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ โดยนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories