เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ติดตามความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการวิสาหกิจชุมชนยั่งยืน : การสร้างเครือข่ายและมาตรการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) ร่วมด้วยการสนับสนุนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในการติดตามความสำเร็จของโครงการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้การต้อนรับ ณ บ้านพิงกันเวลเนสรีสอร์ท และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด จ.เชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญกับกลไกด้านการเตรียมความพร้อมในการรับสังคมสูงวัย โดยได้สนับสนุนงานวิจัยและการขยายผล เพื่อสร้างความตระหนัก การเตรียมความพร้อม และสร้างโอกาสในการดูแลคุณภาพชีวิตทีดีให้แก่ผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกการพัฒนาการสนับสนุนการทำงาน ผ่านเครือข่ายสัมมาชีพของภาคประชาชนในพื้นที่ ใน 8 จังหวัด อันได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ลำปาง อยุธยา พิจิตร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่มศว.ได้ดำเนินการด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม จึงเป็นต้นแบบและแนวทางในการขยายผล สำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ให้สามารถต่อสู้กับความยากจนพร้อมเป็นกําลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งขณะนี้ ในแผนด้านการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยของจังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นงานที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง ที่ต้องการกลไกเพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการได้มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ต้นแบบ โดยต้องการยกระดับการมีงานทำของผู้สูงอายุ และต้องการฝึกทักษะที่จำเป็น เพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุในสังคมไทย ภายใต้กรอบการทำงานจากความรอบรู้ 3 ด้าน ได้แก่ ความรอบรู้ทางสุขภาพ ความรอบรู้ทางการเงิน และความรอบรู้ทางดิจิทัล ซึ่งพื้นที่ดำเนินการต้นแบบทั้ง 8 จังหวัด ได้สามารถใช้องค์ความรู้ในการส่งเสริมและพัฒนา เครือข่ายผู้สูงวัย ได้อย่างเหมาะสมต่อบริบทของแต่ละพื้นที่
พร้อมนี้ วช. มศว. และจ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการการขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายและมาตรการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุจากวิสาหกิจชุมชนเกษตรบ้านอินทรีย์แม่ตาด ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงวัย ในอาชีพที่เหมาะสมอย่างมีส่วนร่วม