วช. สนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

วช. สนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

















วันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ประจำปี 2567 (The National RGJ and RRI Conferences 2024) ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ 19 ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาที่ได้รับทุน คปก. และ พวอ. ตั้งแต่ปี 2557 - 2565 ได้มาเผยแพร่ผลงานวิจัย ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยร่วมกับนักวิจัย คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ และรับฟังความคิดเห็น จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัย และการพัฒนางานวิจัยในอนาคต โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด ณ Lotus Suite 3-4 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในภารกิจสำคัญของ วช. คือการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัย โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้นำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ วช. จึงจัดการประชุมวิชาการระดับชาติขึ้นประจำปี โดยในปี 2567 นี้ มีนักศึกษาที่ได้รับทุน คปก. และ พวอ. จำนวนมากนำเสนอผลงานวิจัยที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ เกษตรศาสตร์ และสังคมศาสตร์ การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้พัฒนาตนเอง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่ง วช. มุ่งมั่นพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการให้ทุนสนับสนุนและจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ (O-Brain) สกสว. บรรยายพิเศษ เรื่อง “กลไกการผลิตและพัฒนากำลังคนตามแผน ววน. พ.ศ. 2566-2570” ว่า แผน ววน. มุ่งเน้นพัฒนาคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกสำคัญคือ การผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักนวัตกรที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ผ่านการสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาทักษะที่จำเป็น รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อให้กำลังคนไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ยังมีการเสวนา เรื่อง “การสร้างนักวิจัยตามแนวโน้นของประเทศไทยในอนาคต“ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ไพศาล กิตติศุภกร เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน อดีตอาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวถึงประเด็น "สถานการณ์และโครงการสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป" ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบอุดมศึกษา อว. กล่าวถึงประเด็น "การพัฒนาบุคลากรวิจัยรุ่นเยาว์จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต" และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็น "ความท้าทายของการใช้ AI เพื่องานวิจัยในอนาคต“
การประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนานักวิจัยไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน การสนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกและสามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในปัจจุบันและอนาคต
Print

Categories