นักวิจัยคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย ช่วยสร้างศักยภาพผลผลิตและรายได้ แก่เกษตรกรในพื้นที่สูง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
การพัฒนาการกะเทาะผลกะลาแมคคาเดเมียในปัจจุบัน นิยมใช้แบบใบมีดกะแทก โดยใช้แรงงานคนที่มีความชำนาญและใช้เวลานาน สามารถกะเทาะได้ครั้งละ 1 ผล เท่านั้น โดยแมคคาเดเมีย 1 กิโลกรัม จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในการกะเทาะ จึงอาจส่งผลให้การผลิตล่าช้าหรือผลผลิตเสียหาย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย หัวหน้าโครงการวิจัยจาก ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้คิดค้นเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย จากโครงการพัฒนามาตรฐานการผลิตแมคคาเดเมียอบแห้งสำหรับชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินการพัฒนาเครื่องกะเทาะแมคคาเดเมียที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเขตพื้นที่ บ้านทับเบิก อำเภอหล่มเก่า และ บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ โดยร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อาทิตย์ เวนติเลเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการการแปรรูปแมคคาเดเมียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลักษณะการใช้งาน คือ เมื่อนำผลกะลาแมคคาเดเมียใส่เข้าด้านบนของเครื่องกะเทาะ ผลกะลาแมคคาเดเมียจะตกลงไปภายในเครื่องมีแกนหมุนเพื่อให้ผลกะลาที่ตกลงไปกระทบกับชุดใบมีดสำหรับการกะเทาะผลกะลาให้แตก จากนั้นกะลาและเนื้อในที่แยกออกจากกัน ตกลงสู่ถาดรองรับภายนอกเครื่องกะเทาะและนำไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป
รศ. ดร.ธานี กล่าวต่อว่า นวัตกรรมชุดนี้สามารถช่วยย่นเวลาการผลิต ตอบโจทย์ในระดับวิสาหกิจชุมชน อีกทั้ง ได้ผลเมล็ดเต็มของแมคคาเดเมีย ถึงร้อยละ 60 โดยแมคคาเดเมีย 1 กิโลกรัม จะใช้เวลาการกะเทาะประมาณ 30 นาที ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการที่จะทำให้ได้เมล็ดเต็มมากขึ้น โดยมีการวางเป้าหมายการขยายผล ไปสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้การแปรรูปแมคคาเดเมียสำหรับชุมชน เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปการผลิตแมคคาเดเมียโดยใช้เครื่องกะเทาะแมคคาเดเมีย ให้แก่ ชุมชนและเกษตรกร ให้เกิดรายได้มากขึ้น มีอาชีพใหม่รองรับ และเกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสำหรับการแปรรูปแมคคาเดเมีย และขยายผลต่อไปยังเขตพื้นที่สูงต่าง ๆ
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาว