วช. หนุน ศสอ. จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ตามแผนงานวิจัยท้าทายไทย

  • 22 April 2021
  • Author: Wanchaloem
  • Number of views: 2244
วช. หนุน ศสอ. จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ตามแผนงานวิจัยท้าทายไทย

                   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยแก่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 1  โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมี 4 เป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาวงจรและจัดทำระบบฐานข้อมูลขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน 2) เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการรวบรวมและขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียอันตรายชุมชน 3) เพื่อพัฒนาแนวทางและรูปแบบในการเสริมสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนอย่างถูกต้อง และ 4) เพื่อวิจัยและพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบจากพื้นที่เสี่ยง

                   รศ.ดร.สุธา  ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) กล่าวว่า แผนงานวิจัยการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชน ระยะที่ 1 ได้ข้อสรุปสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ได้ทราบปริมาณและประเภทของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น ณ แหล่งกำเนิด โดยจากผลการประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต และของเสียอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ หลอดไฟ และถ่านไฟฉาย ด้วยวิธี Consumption use model พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนทั้งประเทศ ในปี 2562 มีปริมาณ 607,575.75 ตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ จากการนำข้อมูลปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากการประเมินมาประมวลผลรวมกับข้อมูลทางสถิติ เพื่อศึกษาผังการไหลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 7 ชนิด พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ก่อกำเนิดจะถูกส่งต่อไปยังผู้เก็บรวบรวมและรื้อแยก โดยแบ่งการจัดการออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การจัดการโดยโรงงานอุตสาหกรรม (ร้อยละ 28.00) และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยชุมชน (ร้อยละ 50.00) อย่างไรก็ตาม มีขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดการ โดยจะถูกเก็บไว้ในส่วนของครัวเรือน ส่วนที่สอง ได้ทราบเกี่ยวกับวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยชุมชน ชุมชนรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยชุมชนรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ชุมชน ผู้ประกอบการทำการรื้อแยกด้วยวิธีทางกายภาพ เพื่อให้ได้วัสดุที่สามารถนำไปขายต่อ ส่วนเศษวัสดุเหลือทิ้งจะถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จากผลการศึกษาพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เข้าสู่พื้นที่ทั้งหมด สามารถรื้อแยกเป็นวัสดุที่ขายได้คิดเป็นร้อยละ 78 ได้แก่ เหล็ก พลาสติก ทองแดง อะลูมิเนียม สายไฟ แผงวงจร โลหะผสม และสแตนเลส และเศษวัสดุเหลือทิ้งคิดเป็นร้อยละ 22 ได้แก่ แก้ว พลาสติกทนความร้อน โฟมโพลียูรีเทน ยาง สารละลายน้ำเกลือ และสารทำความเย็น นอกจากนี้พบว่าในกระบวนการรื้อแยกและจัดการวัสดุบางประเภท เช่น การเผาสายไฟเพื่อให้ได้ทองแดง การทุบหน้าจอ CRT ในโทรทัศน์ เพื่อให้ได้เหล็ก และการกำจัดโฟมในตู้เย็นด้วยวิธีการเผา ทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ ดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ประกอบกิจกรรมรื้อแยกและพื้นที่โดยรอบที่เกี่ยวเนื่องกับการรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการวิเคราะห์โลหะหนัก 8 ชนิด ได้แก่ ทองแดง นิกเกิล สังกะสี แมงกานีส โครเมียม แคดเมียม ตะกั่ว และสารหนู พบว่าพื้นที่ประกอบกิจกรรมรื้อแยกมีแนวโน้มปริมาณโลหะหนักสูงกว่าในพื้นที่ที่ไม่ประกอบกิจกรรมรื้อแยก โดยเฉพาะบริเวณในสถานที่ทิ้งขยะที่มีกิจกรรมการทุบหน้าจอ CRT และการเผาสายไฟพบปริมาณโลหะหนักสูงที่สุด จากผลการศึกษาทำให้ทราบว่าการประกอบอาชีพอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกอบการ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชุมชนอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้การประกอบอาชีพรื้อแยกดำเนินไปได้โดยก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของชุมชนรื้อแยกที่ไม่ได้มีกฎหมายใดมาควบคุมดูแลโดยเฉพาะ อาจถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการควบคุมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการรื้อแยกที่ชัดเจน ทำอย่างไรจึงจะยกระดับมาตรฐานการทำงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะผลักดันให้ชุมชนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบที่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทางแผนงานฯ จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางในการลดผลกระทบ โดยได้สร้างสร้างสถานประกอบการต้นแบบด้วยหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อลดกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่แหล่งกำเนิด ซึ่งสถานประกอบการนี้มีแนวคิดที่ว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้านประโยชน์การใช้สอยพื้นที่และการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามต้องให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และนอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้ศึกษานวัตกรรมเครื่องปอกสายไฟ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเผาสายไฟเพื่อให้ได้ทองแดง อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องทำการพัฒนาและขยายผลต่อไป

                   จากผลการศึกษาที่ได้จากแผนงานฯ ในระยะที่ 1 ทำให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายชุมชนทั้งระบบ จนสามารถนำมาวางแผนการจัดการในภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้ข้อมูลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงยังต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในแผนงานฯ ระยะที่ 2 ซึ่งในการศึกษาแผนงานฯ ระยะที่ 2 มุ่งหวังที่จะผลักดันให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

                   ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อเกิดการพัฒนาแล้วมักจะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เหมาะสม เกิดมลพิษที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพดิน น้ำและอากาศ และส่งผลกระทบเชิงลบกลับมายังทรัพยากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นแนวทางเบื้องต้นในการหาทางออกและคำตอบในการแก้ปัญหาดังกล่าวและเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ และของเสียอันตรายที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเมืองสีเขียวและสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศ วช. จึงสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 

 

Print
Tags:
Rate this article:
1.0

Categories