วช. เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2565 มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 2.99%

วช. เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2565  มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 2.99%

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2565 (รอบสำรวจข้อมูลประจำปี 2566) International Institute for Management Development (IMD) เผยแพร่รายงาน World Competitiveness Ranking ประจำปี 2567 ในภาพรวมประเทศไทยปรับอันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 67 ประเทศ โดยปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) อยู่อันดับที่ 5 (ดีขึ้น 11 อันดับ) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) อยู่อันดับที่ 24 (อันดับคงที่) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) อยู่อันดับที่ 20 (ดีขึ้น 3 อันดับ) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อยู่อันดับที่ 43 (อันดับคงที่)

 

สำหรับปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) ซึ่งเป็นปัจจัยย่อยภายใต้โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรับอันดับลดลง 1 อันดับ (จากอันดับที่ 39 ลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 40) ประกอบด้วย 22 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น Hard data 15 ตัวชี้วัด Survey data 3 ตัวชี้วัด และ Background data 4 ตัวชี้วัด พบว่า ปี 2567 อันดับดีขึ้น 2 ตัวชี้วัด อันดับคงที่ 6 ตัวชี้วัด และอันดับลดลง 13 ตัวชี้วัด

 

ดร. วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  เปิดเผยว่า ผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2565 (รอบสำรวจข้อมูลประจำปี 2566) พบว่า ปี 2565 ภาพรวมค่าใช้จ่าย R&D ของประเทศไทย อยู่ที่ 201,415 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.99 หรือ คิดเป็นร้อยละ 1.16 ของ GDP ของประเทศ แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชน  146,321 ล้านบาท และภาคอื่นๆ (รัฐบาล,อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) 55,094 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 73 : 27 เมื่อจำแนกค่าใช้จ่าย R&D ตามหน่วยดำเนินการ (Sector of performance) พบว่า ภาคเอกชนมีค่าใช้จ่าย R&D มากที่สุด 146,321 ล้านบาท (ร้อยละ 72.65) รองลงมาคือ ภาคอุดมศึกษา 40,301 ล้านบาท (ร้อยละ 20.01) ภาครัฐบาล 12,123 ล้านบาท (ร้อยละ 6.02) ภาครัฐวิสาหกิจ 1,542 ล้านบาท (ร้อยละ 0.76) และภาคเอกชนไม่ค้ากำไร 1,128 ล้านบาท (ร้อยละ 0.56)

 

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชน พบว่า ภาพรวมเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.00 เมื่อจำแนกตาม Sector พบว่า เป็นค่าใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 77,762.97 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.70) ภาคอุตสาหกรรมการบริการ 35,530.34 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 43.30)  และภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง/ค้าปลีก 32,804.28 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 127.20) และค่าใช้จ่าย R&D อื่น ๆ (งบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 223.19 ล้านบาท) และจำแนกตามขนาดได้ดังนี้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 119,991.86 ล้านบาท (ร้อยละ 82.01 ) อุตสาหกรรมขนาดกลาง 15,298.73 ล้านบาท (ร้อยละ 10.45) และอุตสาหกรรมขนาดย่อม 10,807 ล้านบาท (ร้อยละ 7.39)

จากผลการสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่าย R&D สูงสุด 3 อันดับแรก  

 

อันดับ 1 อุตสาหกรรมอาหาร 22,314 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง โดยผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าเกิดจากความกังวลจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผลกระทบจากภัยแล้ง และการเตรียมการปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการภาครัฐที่อาจเกิดขึ้น เช่น การลดการบริโภคโซเดียม (Sodium intake reduction) หรือ มาตรการการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

อันดับ 2 กิจกรรมบริการทางการเงิน ยกเว้น การประกันภัยและกองทุนบำเหน็จบำนาญ 21,882 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย R&D สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การขยายการให้บริการทางการเงินของผู้ประกอบการฟินเทค (FinTech) การเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เข้ามาแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น

 

อันดับ 3 ธุรกิจค้าส่ง/ตัวแทนจำหน่าย 17,240 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย R&D สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ตลาดค้าส่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็น B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) จากการเข้ามาของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ธุรกิจขายส่งขยายตลาดผ่านช่องทาง Digital Platform หรือ Marketplace ต่าง ๆ มากขึ้น มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าของไทยเพิ่มขึ้นจากสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังสถานการณ์โควิด-19

 

เมื่อพิจารณา GERD/GDP ของประเทศไทยเทียบกับภูมิภาคอาเซียน จากฐานข้อมูล IMD ซึ่งปี 2565 (2022) เป็นปีล่าสุดข้อมูล พบว่า ประเทศไทยมี GERD/GDP อยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยห่างจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งประมาณ 1.7 เท่า และในช่วงปี 2564-2565 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่มี GERD/GDP ลดลง ได้แก่ สิงคโปร์ (ลดลงร้อยละ 11.11) ไทย (ลดลงร้อยละ 4.13) และมาเลเซีย (ลดลงร้อยละ13.40 ) 

 

สำหรับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยปี 2565 ในภาพรวมมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบรายหัว) 242,061 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17) และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) 165,126 คน-ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43) โดยบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) จำแนกเป็นนักวิจัย 133,684 คน-ปี (ร้อยละ 80.96) ผู้ช่วยนักวิจัย 19,506 คน-ปี (ร้อยละ 11.81) และผู้ทำงานสนับสนุน 11,936 คน-ปี (ร้อยละ 7.23) คิดเป็นสัดส่วนบุคลากร R&D (แบบ FTE) ต่อประชากร 10,000 คน อยู่ที่ 25 คน-ปี โดยอยู่ในภาคเอกชน 114,583 คน-ปี และภาคอื่น ๆ 50,543 คน-ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา(แบบ FTE) ของภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 69:31เมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียน พบว่า ไทยมีบุคลากร R&D (แบบ FTE) ต่อประชากร 1,000 คน อยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน เป็นรองมาเลเซียและสิงคโปร์

Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories