วช.ชวน “7 แล้วจบ” แยกและลดขยะในงานมหกรรมวิทย์ ’63

  • 17 November 2020
  • Author: Kallayanee
  • Number of views: 1937
วช.ชวน “7 แล้วจบ” แยกและลดขยะในงานมหกรรมวิทย์ ’63

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดบูธในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2563 ชูกิจกรรม “7 แล้วจบช่วยลดปริมาณขยะด้วย 7 วิธี และคัดแยกขยะ 4 ชนิด ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย แนะแยกให้ถูกถัง ทิ้งให้ถูกสี ดีต่อชุมชน

วันนี้ (16 พ.ย.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมจัดบูธในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2563 โดยนำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ลดจำนวนของเสียให้เหลือศูนย์ ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ไฮไลต์ “7แล้วจบ ช่วยลดปริมาณขยะ

ภายในบูธ วช. มีกิจกรรมวาดภาพระบายสีเกี่ยวกับการแยกขยะ กิจกรรมระบายสีบนกระเป๋าผ้าและได้รับเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน และกิจกรรมบิงโกเพื่อแลกของรางวัลหลังเรียนรู้การลดขยะ 7 วิธี ได้แก่ 1. รีฟิวส์ (Refuse) ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์สร้างมลพิษ เช่น กล่องโฟมและพลาสติก 2. รีไซเคิล (Recycle) แยกขยะให้ง่ายต่อการนำไปแปรรูป เปลี่ยนขยะให้มีชีวิตอีกครั้ง 3. รียูส (Reuse) ใช้แล้วใช้อีก จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน 4. รีฟิล (Refill) เลือกใช้สินค้าแบบเติม เพื่อไม่เพิ่มเกินความจำเป็น 5. รีแพร์ (Repair) ของเสียให้หัดซ่อม ต้องใช้ให้คุ้มก่อนกลายเป็นขยะ 6. รีเทิร์น (Return) อุดหนุนสินค้าหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ทำให้ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และ 7. รีดิวซ์ (Reduce) เลิกกินทิ้ง กินขว้าง เกินความจำเป็น เพื่อลดการสร้างขยะ พร้อมเรียนรู้การแยกขยะ 4 ชนิด ได้แก่ ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่ย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติ เช่น ผัก เศษอาหาร ขยะรีไซเคิล คือขยะที่แปรรูปใช้ใหม่ได้ เช่น แก้ว เศษกระดาษ ขยะทั่วไป คือ ขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น พลาสติกใส่อาหาร กล่องโฟม และขยะอันตราย ภายใต้แนวคิดแยกให้ถูกถัง ทิ้งให้ถูกสี ดีต่อชุมชน





ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ จากสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผู้ได้รับมอบหมายในการออกแบบกิจกรรมภายในบูธ วช. ระบุว่า ได้รับโจทย์ให้ออกแบบกิจกรรมที่ใช้เวลาน้อย รองรับคนจำนวนมาก และเข้ากับแนวคิดลดปริมาณขยะ โดยเลือกกิจกรรมระบายสีบนผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ้าที่ใช้เป็นผ้าฝ้ายดิบ ไม่ผ่านการฟอกย้อมด้วยสารเคมี ส่วนสีที่ใช้ในกิจกรรมระบายสีเป็นสีพิมพ์ผ้าที่ผสมน้ำได้และย่อยสลายไปพร้อมกระเป๋าผ้า และออกแบบกระเป๋าที่เหมาะกับผู้เข้าร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยมีกระเป๋า 3 แบบ คือ กระเป๋าใส่กระบอกน้ำ กระเป๋าใส่เครื่องเขียน และกระเป๋าอเนกประสงค์

สำหรับผ้าฝ้ายดิบที่นำมาใช้ในกิจกรรมภายในบูธเป็นผลงานจากงานวิจัยที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ได้รับทุนวิจัยจาก วช. จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการการจัดการความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ็คการ์ด และโครงการการจัดการความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องการออกแบบและพัฒนาเครื่องม้วนเส้นด้ายยืนด้วยนวัตกรรมการม้วนแบบอัตโนมัติ โดยผ้าฝ้ายดิบนั้นทอขึ้นจาก เครื่องทอผ้าแบบแจ็คการ์ดซึ่งสามารถทอผ้าให้เป็นลวดลายได้โดยไม่ต้องขึ้นลายและขึ้นตะกอ สามารถทอผ้าได้ลวดเร็วกว่าเครื่องทอทั่วไป 5 เท่า


ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ ฮอล์ 2 เมืองทองธานี และสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ http://www.thailandnstfair.com


Print
Tags:
Rate this article:
No rating

Categories