เพลงของพ่อ “รัชกาลที่ 9” ดังกระหึ่มทั่วประเทศในงาน ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ ประจำปี 2567 “ศุภมาส” นำทีมผู้บริหารกระทรวง อว.ร่วมกับประชาชนขับร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสด

เพลงของพ่อ “รัชกาลที่ 9” ดังกระหึ่มทั่วประเทศในงาน ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ ประจำปี 2567  “ศุภมาส” นำทีมผู้บริหารกระทรวง อว.ร่วมกับประชาชนขับร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสด













เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน "ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” ประจำปี 2567

เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระอัฉริยภาพทางดนตรีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. เป็นประธานและมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง อว.ตลอดจนประชาชนที่พร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

น.ส.ศุภมาส กล่าวเปิดงานว่า งาน "ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” ประจำปี 2567 จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระอัฉริยภาพทางดนตรีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นการนำ Soft power พลังด้านดนตรี ที่มีศักยภาพอันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ นำมาถ่ายทอดความจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ทรงเป็นสังคีตกวี และนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรี ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
“ความสำเร็จของงานดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากนักดนตรี และผู้แสดงทุกท่าน ที่พร้อมเพรียงกันแสดงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ทั่วประเทศ ในทุกรูปแบบวงดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ดนตรีคลาสสิก ดนตรีสากล ดนตรีไทย วงดุริยางค์ วงโยธวาทิต วงดนตรีโฟล์คซอง การแสดงนาฏศิลป์ท้องถิ่น การขับร้อง และการแสดงนาฏยลีลาร่วมสมัย โดย อว. ส่วนหน้า ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้ง 63 จังหวัด ทั่วประเทศ” น.ส.ศุภมาส กล่าว
จากนั้นเวลา 18.00 น. น.ส.ศุภมาสร่วมกับผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง อว.และประชาชน ร่วมร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชาและเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง บรรเลงโดยวง Wind Symphony จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่วอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ
ต่อมามีการแสดงโขนเทิดพระเกียรติโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม ตอน “พระรามตรวจพลยกรบ” และการแสดงโดรนเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 500 ลำโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับเป็นการแปรอักษรพระบรมสาทิสลักษณ์ สวยงามและเรียกเสียงฮือฮา เสร็จแล้วเป็นการแสดงดนตรีจากวง Kasetsart Winds มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวง Jazz Ensemble จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
ขณะที่ในส่วนภูมิภาค สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. โดย อว. ส่วนหน้า จำนวน 63 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชา และเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” พร้อมกับเวทีอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร วช. เข้าร่วมในครั้งนี้ ซึ่ง วช. ได้จัดนิทรรศการ "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย" และ "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" และได้ร่วมมือกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับนำโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 500 ลำ ซึ่งมีการจัดแสดงประกอบด้วยภาพพระปรมาภิไธย ภปร. ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ภาพกังหันน้ำชัยพัฒนา ภาพเครื่องบินฝนหลวง ภาพพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ภาพเรารักในหลวง ภาพพระราชกรณียกิจโครงการปลูกหญ้าแฝก และภาพ ธ สถิตในดวงใจ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร
สำหรับงาน "ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” ประจำปี 2567 เวทีอุยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอีก 2 วันคือวันที่ 6 ธ.ค.และวันที่ 7 ธ.ค. โดยในวันที่ 6 ธ.ค.พบกับวง Percussion Ensembles จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา วงดนตรีสากลจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วงดนตรีสากลแนวลูกทุ่งจาก มทร.กรุงเทพ และวันที่ 7 ธ.ค.พบกับวง Labha Land Symphonic Band จาก มรภ.เทพสตรี วง Wind Orchestra จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และวง Brass Band จากมหาวิทยาลัย มหิดล นอกจากการแสดงดนตรีแล้วยังมีการแสดงนิทรรศการช่าง 10 หมู่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยหรือ Digital Gallery การออกร้านอาหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. บูธจำหน่ายสินค้าของนิสิตนักศึกษา เป็นต้น
Print

Categories