ขอเรียนเชิญเข้าร่วมชมงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) บางรัก กรุงเทพฯ

๑.ที่มาและความสำคัญ การวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย "Thailand 4.0” ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งได้มีการปฎิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้วยการจัดตั้ง “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” ขึ้นเป็นสภาหลัก โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการทำหน้าที่กำหนดทิศทางและนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นกลไกการบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงกับตามความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วมของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้บริหารจัดการในภาพรวมของการขับเคลื่อนการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติเชิงพาณิชย์ และมิติต่างๆ โดยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ได้นำร่องจัดงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพบผู้ใช้” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ๔ แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องในการดำเนินการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะนำผลงานไปสู่การซื้อขาย การจัดซื้อจัดจ้างหรือต่อยอดการดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป ดังนั้น เพื่อการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ในคราวการประชุมคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น ๒ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล วช. จึงได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เป็นครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๓ – ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก โดยสืบเนื่องจากการจัดครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ โดยนำเสนอผลงานวิจัยในระดับที่มีความพร้อมใช้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ที่เป็นผลิตผลจากการคัดกรอง วิเคราะห์ข้อมูลจากคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository: TNRR) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลการวิจัยของหน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งนี้ โดยให้ประสานพลังความร่วมมือ ร่วมขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลิตผลงานวิจัย และกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ไชปัญหาและพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สร้างความก้าวหน้า และขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จะได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในครั้งต่อๆ ไปในทุก ๓ – ๖ เดือน ๒. วัตถุประสงค์ ๒.๑ เพื่อเร่งให้เกิดการขยายผลและนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่มีอยู่แล้วในฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศ ไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ เชิงชุมชน/สังคม เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ ๒.๒ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ และเชิงชุมชน/สังคม ๓. กลุ่มเป้าหมาย ๓.๑ ผู้เข้าร่วมจัดแสดงผลงาน ได้แก่ นักวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยและหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓.๒ ผู้เข้าร่วมชมงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับนโยบายของประเทศ ผู้บริหารระดับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ นักพัฒนา ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ๔. กิจกรรมภายในงาน ๔.๑ การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ในภาคนิทรรศการ จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง ใน ๗ กลุ่มเรื่องวิจัย ตามกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ ระยะ ๒๐ ปี ประกอบด้วย ๑) งานวิจัยเพื่อความมั่นคง ๒) งานวิจัยเพื่อการเกษตร ๓) งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ๔) งานวิจัยเพื่อสังคม ๕) งานวิจัยเพื่อการแพทย์ และสาธารณสุข ๖) งานวิจัยเพื่อพลัง ๗) งานวิจัยเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ๔.๒ กิจกรรมการให้คำปรึกษา การส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ๔.๓ การลงนามความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตผลงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ๔.๔ กิจกรรมภาคการประชุม เสวนา การร่วมบูรณาการกลไกโดยภาคการผลิตและภาคบริการ ๕. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ๕.๑ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบาย ภาคปฏิบัติการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วม บูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ๕.๒ เงื่อนไขและอุปสรรคของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยไปใช้ประโยชน์ ได้รับการปลดล็อค และสามารถนำไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และเชิงชุมชม/สังคม ได้ ๖. ระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๓ – วันอาทิตย์ ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ ๗. งบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ๘. หน่วยงานที่รับผิดชอบ กองประเมินผลและจัดการความรู้การวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ๑๙๖ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๕๖๑-๒๔๔๕ ต่อ ๕๑๗ หรือ ๕๑๙ โทรสาร ๐-๒๕๗๙-๐๑๐๙ หรือ ๐-๒๕๗๙-๐๔๕๕
Print
Categories: RSS
Tags:
Rate this article:
No rating
«January 2025»
MonTueWedThuFriSatSun
303112345
6789101112
13141516171819
20212223242526
272829303112
3456789