ครบรอบ 65 ปี วช. จัดเสวนา “นวัตกรรมสร้างสังคมปลอดภัย ประชาชนห่างไกลอาชญากรรม”

ครบรอบ 65 ปี วช. จัดเสวนา “นวัตกรรมสร้างสังคมปลอดภัย ประชาชนห่างไกลอาชญากรรม”
















วันที่ 23 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาเนื่องในโอกาส วช. ครบรอบ 65 ปี ภายใต้แนวคิด “65 ปี วช. บูรณาการความรู้ เชิดชูนักวิจัย สร้างอนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยในวันนี้เป็นการเสวนาในหัวข้อ“นวัตกรรมสร้างสังคมปลอดภัย ประชาชนห่างไกลอาชญากรรม” ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1 ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ วช.ครบรอบ 65 ปี และปาฐกถาพิเศษในประเด็นของการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะ ว่าเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีเป้าหมายในการให้เกิดผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถลดความรุนแรง โดยมีข้อมูลกลางของประเทศที่บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและร่วมเป็นเจ้าของโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายและปฏิบัติการ ในการลดความรุนแรงในสังคมไทยและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และส่งเสริมการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในชีวิตของประชาชน และขอชื่นชม วช. ในการสนับสนุนผลงานวิจัยที่มีส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดภัยตลอดระยะเวลากว่า 65 ปี ที่ผ่านมา

การเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมสร้างสังคมปลอดภัย ประชาชนห่างไกลอาชญากรรม” โดยมี
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งมีประเด็นในหัวข้อย่อย ดังนี้
หัวข้อ“สังคมในปัจจุบันกับเหตุความไม่ปลอดภัย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนนิกานต์ รอดมรณ์
จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้อธิบายถึง ในสังคมปัจจุบันที่ส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัย เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ที่มีส่วนในการเพิ่มโอกาสเกิดอาชญากรรมปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกัน จึงต้องมีการติดตั้งกล้อง cctv เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในการวิจัยเพื่อช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดอาชญากรรมเทียบกับระบบฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของของมนุษย์
หัวข้อ “ทำอย่างไร...ให้ประชาชนปลอดภัยจากอาชญากรรม” โดย ผู้ศาสตราจารย์ ดร.สันติชัย วิชา จาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวถึงวิธีการและแนวทางในการป้องกันอาชญากรรม เช่น การใช้เทคโนโลยี กล้องวงจรปิดที่มี AI ช่วยคิดวิเคราะห์พฤติกรรม ด้วยระบบการแจ้งเตือนพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านการแจ้งเตือนผ่าน line notify และการวางนโยบายที่เน้นความปลอดภัยของประชาชน
หัวข้อ “นวัตกรรมทางสังคมป้องกันอาชญากรรม ได้จริงหรือ?” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช ศรีสุข จาก มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทของนวัตกรรมทางสังคมที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรม การวิเคราะห์ Supply Chain การนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยในการลดและป้องกันการโจรกรรม การติดตั้งกล้อง cctv ที่ครอบคลุมอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ โดยรอบและจุดอับสายตา รถหายต้องติดตามได้ และความท้าทายในการนำไปปรับใช้ในสังคมเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคมประชาชนห่างไกลจากอาชญากรรม
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ภาคการประชุมกิจกรรมการเสวนาในประเด็นสำคัญ กิจกรรม NRCT Talk ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถเยี่ยมชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ผ่านการพัฒนาต่อยอดในกิจกรรม ชิม ช็อป ชิล ตลาดงานวิจัย ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยนวัตกรรมของไทยที่น่าสนใจหลากหลายประเภท นอกจากนี้ยังมี พื้นที่สร้างสรรค์เรียนรู้ สำหรับการจัดกิจกรรม Workshop และการเรียนรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมเรียนรู้และทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
Print
«December 2024»
MonTueWedThuFriSatSun
2526272829301
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
303112345