วช. ผนึก ววช.ตาก ฝึกทักษะการจักสานไม้ไผ่ สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยงานวิจัยท้องถิ่นภาคเหนือ
วันที่ 19 กันยายน 2566 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นายธานินทร์ ผะเอม และ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัย การพัฒนางานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่เชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของชุมชนอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก” ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR” สร้างกลไกการใช้คนในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัย และยกระดับผลิตภัณฑ์ ของ นางสาววัชรินทร์รัตน์ ศรีสมุทร อาจารย์นักวิจัยจากวิทยาลัยชุมชนตาก (ววช.ตาก) เป็นหัวหน้าโครงการ และมี นายอารักษ์ อนุชปรีดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตาก รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน อาจารย์กรรณิการ์ บุญยัง และนางจิตรา บัวคลี่ ประธานเครือข่าย OTOP อำเภอเมืองตาก ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ OTOP กาดเกาะลอย อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
นายธีรวัฒน์ บุญสมผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทการบริหารจัดการงานวิจัย โดยการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อช่วยเหลือชุมชนและยกระดับการเปลี่ยนแปลงผ่านองค์ความรู้จากงานวิจัย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามผลงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น CBR
ที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่เชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของชุมชนอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก” ถือเป็นสิ่งที่ดี และตอบโจทย์การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างชัดเจน และเป็นต้นแบบสำหรับการยกระดับวิสาหกิจผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอย่างดี
นางสาววัชรินทร์รัตน์ ศรีสมุทร หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ตำบลน้ำริม ตำบลตลุกกลางทุ่ง ตำบลโป่งแดง และตำบลวังประสบ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำงานจักสานเป็นอาชีพเสริม แต่ในพื้นที่กลับมีไม้ไผ่น้อยและไม่มีคุณภาพ จึงต้องไปชื้อไม้ไผ่จากจังหวัดข้างเคียงทำให้มีต้นทุนสูง และชุมชนขาดการรวมกลุ่มในการต่อรองราคา ทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐาน รูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลายและไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จากปัญหาดังกล่าว วิทยาลัยชุมชนตากได้ร่วมกันหารือกับเครือข่ายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนางานหัตถกรรมจักสานให้มีคุณภาพ โดยเริ่มศึกษาบริบทพื้นที่ ความเป็นมาของลวดลายการขัดสานไม้ไผ่ รูปแบบการจักสานและปัญหาของการจักสานไม้ไผ่ของชุมชน รวมถึงหารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานไม้ไผ่เชิงสร้างสรรค์แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้รูปแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสินค้างานหัตกรรมจักสานให้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
จากการที่วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก ได้ลงมาพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ทำให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ภาชนะใสชุดอาหารว่างเป็นจำนวนมาก แต่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย และไม่ค่อยถนัดงานจักสานที่มีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถผลิตงานได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า จากปัญหานี้ จึงได้ขยายองค์ความรู้ไปยังชุมชนบ้านมาบป่าแฝก และชุมชนบ้านแก่งหิน เพื่อผลิตสินค้าให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า และกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านสะแกเครือ เพื่อชมกระบวนการทำงาน และชมการสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โดยมี นางเกษร สอนสุภาพ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังจบ และนางลมัย เจ๊งพวง หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานไม้ไผ่ บ้านสะแกเครือ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านสะแกเครือ ตำบลวังประจบ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
นางลมัย เจ๊งพวง หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานไม้ไผ่ บ้านสะแกเครือ กล่าวว่า การเข้ามาช่วยของวิทยาลัยชุมชนตาก ในครั้งนี้ทำให้คนในชุมชนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาและออกแบบงานจักสานไม้ไผ่ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และช่วยลดปริมาณการใช้เนื้อไม้ลง และทำให้ชุมชนขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตจากไม้ไผ่ 2 ปล้อง ปล้องละ 10 บาท จากเดิมสานกระด้งมหรือตะแกรง ขนาด 15 นิ้ว ได้ 1 ใบ จำหน่ายใบละ 35 บาท มาผลิตเป็นตะกร้าใส่ของที่ระลึก ขนาด 2 นิ้ว ได้ 20 ใบ จำหน่ายใบละ 6 บาท ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากเดิม 85 บาท ด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด อาทิ ภาชนะสำหรับใส่อาหารว่าง กระด้ง ตะแกรง ชะลอม ตะกร้า เปลญวน และกระเป๋าใส่เงินเหรียญ เป็นต้น