วช. ผนึกกำลังญี่ปุ่น สร้างสังคมสูงวัยไทยคุณภาพ

วช. ผนึกกำลังญี่ปุ่น สร้างสังคมสูงวัยไทยคุณภาพ























วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น (JSPS) และสมาคมศิษย์เก่า JSPS ประเทศไทย หรือ JAAT จัดการสัมมนาเรื่อง "NRCT-JSPS-JAAT Symposium 2024: Super-aged Society in Thailand" เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน Prof. Dr. Yoshio Otani ผู้อำนวยการ JSPS สำนักงานกรุงเทพมหานคร และ รศ.ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม นายกสมาคมศิษย์เก่า JSPS ประเทศไทย กล่าวต้อนรับ ณ Lotus Suite 14 ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า งานสัมมนานี้เกิดจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. สมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งญี่ปุ่น (JSPS) และสมาคมศิษย์เก่า JSPS ประเทศไทย (JAAT) ซึ่งได้สร้างความร่วมมือในการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคม
งานสัมมนาในวันนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาหารือถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อให้สังคมไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวิจัยของประเทศไทย วช. จะมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมของประชากรวัยทำงานเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย
ทั้งนี้ วช. จะส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญในปัจจุบัน ผลลัพธ์จากการเสวนาครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการวิจัยและนโยบายในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายในงานได้มีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวข้อที่เน้นย้ำถึงการมีสุขภาพที่ดีและการมีส่วนร่วมในสังคมหลังเกษียณ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต
หัวข้อเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่ "แข็งแรงและพร้อมกลับไปทำงานสำหรับผู้เกษียณ" ซึ่งหัวข้อนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ผู้เกษียณสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากต้องการจะทำงานต่อในตำแหน่งเดิม ก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ "สถานการณ์และกลยุทธ์การป้องกันภาวะเปราะบางและทุพพลภาพในชุมชน: กรณีศึกษาผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น" โดยหัวข้อนี้ได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ รวมถึงกลยุทธ์ในการป้องกันภาวะเปราะบางและความพิการ โดยมีการนำเสนอตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และ "ประโยชน์หลายประการของการทำงานและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น" หัวข้อนี้ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์มากมายที่เกิดจากการที่ผู้สูงอายุยังคงทำงานและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพจิต สุขภาพกาย หรือแม้แต่เศรษฐกิจ
การสัมมนาครั้งนี้ของ วช. ถือเป็นก้าวสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสังคมสูงวัย ช่วยให้เกิดการพัฒนานโยบายและมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศ ข้อมูลและแนวคิดจากการสัมมนาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยของไทย วช. จะนำผลการสัมมนาไปสู่การดำเนินงานจริง เช่น การสนับสนุนโครงการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้สูงอายุ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป
Print
«December 2024»
MonTueWedThuFriSatSun
2526272829301
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
303112345