วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบวิจัย คุณสุนันทา สมพงษ์ ดร.มารยาท สมุทรสาคร คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และเจ้าหน้าที่ วช. ลงพื้นตรวจเยี่ยม “ชุมชนต้นแบบ ADVOCATE
นวัตกรรมการเรียนรู้“มีดี” สร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ณ องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเวียง จังหวัดน่าน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางด้านผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง แผนงาน”เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง“ เป็นอีกกลไกที่มุ่งเน้นการนำชุดความรู้และเทคโนโลยีจากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาทักษะและศักยภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพและการมีรายได้ ซึ่ง“ชุมชนต้นแบบ ADVOCATE นวัตกรรมการเรียนรู้“มีดี” ได้แสดงให้เห็นการพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพผู้นำชุมชนและบุคลากร อปท. เพื่อนำไปสู่การดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชนด้วยกลไกแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และสามารถพัฒนาเป็นโมเดลการบริหารจัดการส่งเสริมอาชีพและสุขภาวะผู้สูงอายุที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานในรูปแบบ Social Enterprise
คุณศรีแพร ศรีวรษา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว จ.น่าน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้รับการถ่ายทอดและอบรมหลักสูตรยกระดับศักยภาพชุมชนต้นแบบและบุคลากร อปท. (ADVOCATE) จากผู้เชี่ยวชาญและทีมวิจัยที่มีคุณภาพ ส่งผลให้บุคลากร อบต.ฝายแก้ว ที่เข้ารับการอบรมสามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ และคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนและผู้สูงอายุ เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลยังพื้นที่อื่นๆ ใน จ.น่านได้
อาจารย์ปรัศนีย์ สินพิมลบูรณ์ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำองค์ความรู้“มีดี”เข้ามาขับเคลื่อนขยายผลให้กับผู้นำชุมชนและผู้สูงอายุใน ต.ฝายแก้ว จ.น่าน จากการประเมินค่าดัชนีพฤฒพลัง (Active Ageing Index: AAI) พบว่า ผู้นำชุมชนสามารถเข้าถึงการสร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน อาทิ แอปพลิเคชัน Line, Feacbook, ZOOM การสื่อสาร ขายของออนไลน์ ฯลฯ โดยได้พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแข่งขันในตลาดออนไลน์
“ชุมชนต้นแบบ ADVOCATE นวัตกรรมการเรียนรู้“มีดี” ได้พัฒนาทักษะและศักยภาพผู้นำชุมชนและบุคลากร อปท. ในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างกว้างขวางและเข้าถึงกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย สามารถส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนได้อย่างเป็นระบบ