วช. ร่วมกับ สกสว. นำคณะสำนักงบประมาณตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเป้าหมายสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

วช. ร่วมกับ สกสว. นำคณะสำนักงบประมาณตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเป้าหมายสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น












เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะสำนักงบประมาณลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ของ วช.

ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ณ โรงรวบรวมผลผลิตกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (RU) ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. , ผศ. ดร.โพยม สราภิรมย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานจังหวัดขอนแก่น เกษตรจังหวัดขอนแก่น และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูล

ความสำเร็จกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมืองขอนแก่น เป็นผลจากโครงการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ระยะ 3 ทำการพัฒนา “โมเดลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระดับจังหวัด” เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดที่เป็นรูปธรรมเกิดประสิทธิภาพการจัดการอย่างเต็มที่ เกิดความมั่นคงทางน้ำ มีความสมดุลทางด้านการจัดหาและความต้องการน้ำ ในแง่ปริมาณและคุณภาพในระดับพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ มีอุปสรรคมากมายจากระบบการบริหาร เนื่องจากมีหน่วยงานมากมายทำงานด้านน้ำ แต่ขาดการบูรณาการอย่างแท้จริงในระดับพื้นที่ย่อย ปัญหาด้านน้ำในหลายพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากองค์ความรู้ บุคลากรด้านน้ำ และงบประมาณ จึงไม่ได้รับการแก้ไข งานวิจัยนี้ได้สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน เกิดเป็นโมเดลการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระดับจังหวัด โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้าไปเป็นกลไกร่วมในการจัดการน้ำในคณะทำงานบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด พัฒนานวัตกรรมกระบวนการเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการจัดการน้ำระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ คาดการณ์สถานการณ์น้ำเพื่อป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที โดยมีภาคีเครือข่าย หน่วยงานระดับท้องถิ่น และจังหวัด ร่วมมือกันในการบูรณาการในทุกมิติสู่การวางแผนการใช้น้ำ ขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารงานของจังหวัดลงไปในพื้นที่ของชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
อีกหนึ่งงานวิจัย วช. ที่มีการนำมาขยายผล คือ “โครงการวิจัยศึกษาคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการในแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดขอนแก่น โดยดำเนินการไป 152 แห่ง ในปี พ.ศ. 2566-2567 เพื่อกักเก็บน้ำให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตร ได้ประมาณ 6.62 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด ที่ดำเนินการต่อยอดการใช้น้ำจากฝายแกนดินซีเมนต์ได้เข้าไปพัฒนาการใช้น้ำจากฝาย เพื่อการผลิตพืชผัก ส่งให้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในเมืองขอนแก่น เพิ่มปริมาณผักและขยายพื้นที่เพาะปลูกผักได้ จากปริมาณน้ำที่มีมากขึ้น ปัจจุบัน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่รับผิดชอบงานภาพรวมด้านน้ำเพื่อการเกษตร และมีเกษตรจังหวัดขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตร โดย สชป. 6 รับผิดชอบน้ำในเขตชลประทาน และ เกษตรจังหวัดรับผิดชอบเกษตรนอกเขตชลประทาน ร่วมกับ ทสจ. ดูแลกลุ่มแปลงใหญ่ 643 กลุ่ม มีเป้าหมายแก้ปัญหากลุ่มแปลงใหญ่เปราะบางด้านน้ำ 118 กลุ่ม ใน 5 ปี
Print
«January 2025»
MonTueWedThuFriSatSun
303112345
6789101112
13141516171819
20212223242526
272829303112
3456789