วช. ร่วมกับ เครือข่ายนักวิชาการ 5 สถาบัน จัดกิจกรรม “Seafood Business Matching” เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการประมงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเล
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและจับคู่ธุรกิจอาหารทะเล (Seafood Business Matching) ภายใต้โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการประมงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเล ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี” ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ร่วมเป็นเกียรติในการเปิดกิจกรรม โดยมี ผศ.ดร. อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายบุญรัตน์ บุญรัศมี หัวหน้าโครงการวิจัยและทีมนักวิจัย พร้อมด้วย ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับ ณ ร้าน Fishmonger Ari ซอยอารีย์ 4 ฝั่งเหนือ เขตพญาไท กรุงเทพฯ
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อน ต่อยอด และส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ (Research Utilization) ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยเชิงวิชาการในรูปแบบโมเดลทางธุรกิจมาบูรณาการให้เกิดองค์ความรู้ด้านธุรกิจอาหาร โดยธุรกิจอาหารทะเลมีความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย ผู้ประกอบการประมงท้องถิ่นจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวในการพัฒนาผลผลิตสัตว์น้ำสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารทางทะเล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักวิชาการจาก 5 สถาบัน ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร 4) มหาวิทยาลัยสยาม และ 5) มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
ผศ.ดร. อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โครงการเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการประมงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเล ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี” ภายใต้การขับเคลื่อนการต่อยอดและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ (RU) ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาบนประเด็นปัญหาเร่งด่วนของธุรกิจที่สำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างโมเดลธุรกิจอาหารทะเลของผู้ประกอบการประมงในจังหวัดปัตตานี เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกของสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เพื่อช่วยสร้างความสามารถในการประกอบธุรกิจอาหารทะเล 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบอาหารทะเลคุณภาพเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน 3) การส่งเสริมและจัดการตลาดที่เหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ใหม่และตลาดเป้าหมายและการสนับสนุนระบบการกระจายผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนแบบ Cold Chain ที่เหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ซึ่งทางสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี คาดหวังการเกิดผู้ประกอบการประมงต้นแบบที่สามารถดำเนินการให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง รวมถึงขยายการเติบโตไปยังเครือข่ายธุรกิจใกล้เคียงให้มีการพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทย
กิจกรรมในครั้งนี้ มีทีมนักวิจัย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ร้านแพปูโชคอุดมรัชฏ์ จังหวัดปัตตานี มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนการเชื่อมโยงผลผลิตงานวิจัยของอาหารทะเลในพื้นที่ สู่การประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร และสร้างสรรค์เมนูจากวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยทีมนักวิจัยได้เลือกร้านอาหารสำหรับจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือร้าน Fishmonger Ari ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับงานวิจัย ในการทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมและผลักดันวัตถุดิบอาหารทะเลจากท้องถิ่นของประเทศไทยให้เป็นที่แพร่หลาย และสร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภค ถึงวัตถุดิบอาหารทะเลที่มีความสด สะอาด อร่อย และปลอดภัย ซึ่งเมนูที่น่าสนใจของร้าน Fishmonger Ari มีมากมาย อาทิ ซีซ่าสลัดปู คิวบันเบรด ทาปาสโชริโซปู กุ้งลายเสือย่าง พาสต้าเพสโต้หมึก และ Fish & Chips
ทั้งนี้ ทีมวิจัยหวังว่า งานวิจัยนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารทะเล ที่วัตถุดิบมีความ “สด สะอาด อร่อย และปลอดภัย” โดยผู้ประกอบการสามารถส่งวัตถุดิบตรงจากท้องทะเล จังหวัดปัตตานี สู่ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อนำไปรังสรรค์เมนูให้กับผู้บริโภคได้รับรู้คุณค่าคู่ความอร่อย และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจจากทรัพยากรทางทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป