วช. หนุน มรภ.เลย พัฒนาและบ่มเพาะ “วิศวกรสังคม” เพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ จ.เลย
วช. หนุน มรภ.เลย พัฒนาและบ่มเพาะ “วิศวกรสังคม” เพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ จ.เลย
วันที่ 31 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ พลเอก กนก ภู่ม่วง เป็นประธาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย” ซึ่ง วช. ให้ทุนสนับสนุนทุนวิจัย โดย รองอธิการบดี ผศ.ดร.ยิ่งศักดิ์ คชโคตร หัวหน้าโครงการวิจัย แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวถึงผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการ มีคณะนักวิจัย พร้อมด้วยนายอุทิศ มหามณี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ชาวบ้านในชุมชนบ้านห้วยเหล็ก ให้การต้อนรับ ณ บ้านห้วยเหล็ก ตำบลกกดู่ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
พลเอก กนก ภู่ม่วง ประธานผู้ทรงคุณวุฒิ วช.
กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยแนวทางกระบวนการ “วิศวกรสังคม” ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาคุณลักษณะนักศึกษาให้กลายเป็น นักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนักสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน เป็นกระบวนการทำงานหลักองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ
ณ บ้านห้วยเหล็ก ตำบลกกดู่ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย โดยนำหลักแนวคิดวิศวกรสังคมมาสู่การสร้างโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยใช้นวัตกรรมมาช่วยสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ
ผศ.ดร.ยิ่งศักดิ์ คชโคตร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า คณะนักวิจัย มรภ.เลย ได้ดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย” ได้เข้ามาแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยแนวทางกระบวนการวิศวกรสังคม เพื่อสร้างคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการได้แก่ 1. การคิดเชิงวิพากษ์ 2. ความคิดสร้างสรรค์ 3. ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น และ 4. การสื่อสาร อันเป็นทักษะจำเป็นเพื่อศตวรรษที่ 21 เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างบัณฑิตของ มรภ.เลย ที่มีคุณลักษณะสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย หนึ่ง มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง สอง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม สาม มีงานทำ มีอาชีพ และ สี่ เป็นพลเมืองที่ดี ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายอุทิศ มหามณี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า บ้านห้วยเหล็ก ตำบลกกดู่ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ของเรานั้น ประสบปัญหาความแห้งแล้งน้ำไม่พอใช้ ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชุมชนบ้านห้วยเหล็กของเรา ให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งอาชีพเสริมของชุมชนของเรานั้นคือ การรวมกลุ่มกันทำข้าวหลาม และข้าวหลามบ้านห้วยเหล็กของเรา มีความโดดเด่นมีรสชาติหอมหวานอร่อย ไม่เหมือนที่อื่น และเราต้องการพัฒนาข้าวหลามของเราให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยกลุ่มวิศวกรสังคม มรภ.เลย เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่โดยใช้ทักษะนาฬิกาชีวิตเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาในเรื่องของอาหารให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ตัวแทนนักศึกษาวิศวกรสังคม ได้นำเสนอการดำเนินงานผลการการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม โครงการที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ ประกอบด้วย การร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตข้าวหลามบ้านห้วยเหล็กให้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไปสู่ข้าวหลามพันล้าน โดยการเพิ่มไส้ข้าวหลามให้มีความหลากหลาย สู่การคิดค้นการทำสูตรข้าวหลามไส้สังขยา และการคิดค้นทำสูตรข้าวหลามไส้ฝอยทอง และการพัฒนาวิธีการเก็บรักษาข้าวหลามยืดอายุให้สามารถเก็บรักษาข้าวหลามให้ได้นานยิ่งขึ้น โดยคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากการดำเนินโครงการดังกล่าว