วช. หนุนทีมวิจัย วว. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนสะแกราช เขตสงวนชีวมณฑลแห่งแรกของไทยเพื่อใช้ในการตั้งรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

  • 5 April 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 3796
วช. หนุนทีมวิจัย วว. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนสะแกราช เขตสงวนชีวมณฑลแห่งแรกของไทยเพื่อใช้ในการตั้งรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า "สะแกราช" นอกจากจะเป็นเขตสงวนชีวมณฑล แห่งแรกของไทยที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อ พ.ศ. 2519 ด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีระบบนิเวศป่าไม้ที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงปีละกว่า 1.4 แสนตันแล้ว ยังเป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน ซึ่งปัจจุบันมีการวิจัยในพื้นที่แห่งนี้แล้วไม่น้อยกว่า 500 เรื่อง ความรู้ดังกล่าวได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแก่นักวิชาการและยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาใช้ในการศึกษาและวิจัยทางด้านธรรมชาติของป่าไม้

อย่างไรก็ดี จากสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ในปัจจุบัน และปัญหาการคุกคามทรัพยากรจากความต้องการใช้ประโยชน์จากชุมชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2564 กับโครงการ “การพัฒนาพื้นที่ป่าสงวน สะแกราช รองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งมี “นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์” ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มีความคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศป่าไม้ของพื้นที่

นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แผนงานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 6 โครงการวิจัยย่อย ซึ่งมีทีมวิจัยทั้งจาก วว. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยแบ่งเป็น 2ด้าน คือ การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาชุมชนโดยรอบพื้นที่สงวนชีวมณฑล สะแกราช ทั้งนี้ ในส่วนของการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีทั้งการติดตามพลวัตป่าไม้ธรรมชาติและป่าฟื้นฟู เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่สถานีวิจัยฯ มีการพัฒนาฐานข้อมูลชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้ เช่น ฐานข้อมูลพรรณไม้ ได้แก่ ชนิดพรรณไม้ โครงสร้างสังคมพืช องค์ประกอบพรรณไม้และพลวัตป่าจากแปลงถาวร 8 แปลง และสถานภาพพรรณไม้ตามการประเมินของ หน่วยงาน IUCN Red List (2011) ซึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรส่งเสริมการปลูกพืชที่มีอัตราการรอดสูง เช่น ตะเคียนหิน ยางนาและแดงร่วมกับไม้กระถินณรงค์ มีการประมาณงบดุลน้ำ โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านอุตุ–อุทกวิทยาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ พบว่างบดุลน้ำอยู่ในเกณฑ์ขาดดุลเกือบทุกปี และคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ. 2575 ปริมาณน้ำท่าจะลดลงอย่างน้อย 45 – 59% แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำในอนาคตไม่เพียงพอต่อการจัดการและการนำไปใช้ จึงควรทำฝายชะลอน้ำชั่วคราว และสร้างบ่อน้ำในไร่นา
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ในการพัฒนาแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและความหลากหลายทางพืชพรรณจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและการส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของชุมชน ซึ่งจากผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ปี2548 - 2573 พบว่า พื้นที่ป่าเต็งรังและทุ่งหญ้าภายในสถานีชีวมณฑลสะแกราชมีพื้นที่ลดลง ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่น ๆ มีพื้นที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการโครงการด้านการพัฒนาชุมชนโดยรอบ มีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่าแบบผสมผสานในพื้นที่เกษตรกรรมและป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นที่กังวลกันถึงประเด็นของความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์เห็ดป่าในอนาคต เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมของไม้มีค่าในพื้นที่ป่าสะแกราชที่ใกล้จะสูญพันธ์ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์มากเกินไป ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งเมล็ดพันธุ์ไม้วงศ์ยาง และพันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ มีการอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะเชื้อเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ในกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนกล้าไม้แก่ชุมชน จัดตั้งศูนย์การเพาะเชื้อเห็ดในพื้นที่พร้อมจัดทำแปลงสาธิต รวมถึงได้มีการส่งมอบต้นกล้าไม้ พืชกินได้ และเห็ดกินได้ เพื่อพัฒนาการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ลดการพึ่งพาทรัพยากรจากป่าธรรมชาติ และร่วมอนุรักษ์พรรณไม้และเชื้อเห็ดพื้นถิ่นที่สำคัญด้วยระบบธนาคาร เพื่อเกิดความมั่นคงทางความหลากหลายชีวภาพของป่า นอกจากนี้ยังมีการประเมินความต้องการการพัฒนาของชุมชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอีกด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาจากโครงการย่อยทั้ง 6 โครงการ รวมถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ป่าสะแกราชในอนาคต ได้มีการนำมาพิจารณาร่วมกับภารกิจหลักของพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566–2570 ที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างของวิสาหกิจ และการผลักดันให้ชุมชนก้าวไปสู่การดูแลและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตรอบนอก สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และบริการของระบบนิเวศของพื้นที่สู่การสร้างพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช เพื่อพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผลการเกษตรตามแนวทาง BCG Model.
Print
Tags:
Rate this article:
No rating
«January 2025»
MonTueWedThuFriSatSun
303112345
6789101112
13141516171819
20212223242526
272829303112
3456789