วช. หนุนเครือข่ายวิจัยภูมิภาค มทร.อีสาน ตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” จ.นครราชสีมา ชูวิจัยนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเกษตรไทย

วช. หนุนเครือข่ายวิจัยภูมิภาค มทร.อีสาน ตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” จ.นครราชสีมา ชูวิจัยนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเกษตรไทย

วันที่ 23 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา จัดพิธีเปิด “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานเปิดงานศูนย์วิจัยชุมชน และได้รับเกียรติจาก นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง คณบดีคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวรายงาน โดยมี นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  พันเอก พงศ์กฤษฏ์ รุจิโยธิน รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 21  ผู้แทนปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา  ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค:ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ กรรมการเครือข่ายวิจัยภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนแล้วจำนวน 67 ศูนย์ แบ่งเป็น (1) ภาคเหนือ: 26 ศูนย์ (2) ภาคกลาง: 14 ศูนย์ (3) ภาคใต้: 13 ศูนย์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: 14 ศูนย์ กิจกรรมในวันนี้  เป็นการเปิดตัวศูนย์วิจัยชุมชนแห่งที่ 15  ดำเนินการโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์วิจัยชุมชน “โคเนื้อแห่งภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา” จากรายงานที่ว่า “โคเนื้อ” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในภาคอีสาน ปัจจุบันมีจำนวนโคเนื้อกว่า 10 ล้านตัว เกษตรกรไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน ยึดเป็นอาชีพหลัก คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่  ดังนั้น ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สำคัญได้แก่ เทคโนโลยีการผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกโค/ฟิคไทม์ เอไอ อาหารโคขุนต้นทุนต่ำ เทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโค ฯลฯ  ซึ่งได้ถูกรวบรวมขึ้นโดย ศูนย์วิจัยชุมชนฯ แห่งนี้ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ ในการสร้างความเข้มแข็งในทุกภูมิภาคของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ฐานความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม

 

ในโอกาสนี้ ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ขอชื่นชมพลังแห่งความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการร่วมขับเคลื่อนให้งานวิจัยและนวัตกรรมได้ขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในการแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน “โคเนื้อแห่งภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา”

 

นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา ได้ชื่อว่าเป็น "ประตูสู่ภาคอีสาน" มีประชากร 2.6 ล้านคน 32 อำเภอ มีพื้นที่ 20,493 ตารางกิโลเมตร ผลิตภัณฑ์ มวลรวม (GDP) 335,472 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน รายได้เฉลี่ย/หัว/ปี 134,338 บาท มีรายได้เข้าจังหวัดมาจากภาคท่องเที่ยวและบริการ 166,896 ล้านบาท คิดเป็น 50% ภาคอุตสาหกรรม 120,220 ล้านบาท คิดเป็น 36% ภาคเกษตรกรรม 48,365 ล้านบาท คิดเป็น 14 % จังหวัดนครราชสีมา มีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ไก่ โคเนื้อ แพะ แกะ และสุกร ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีวิสัยทัศน์ คือ "โคราชเมืองน่าอยู่ ควบคู่เทคโนโลยียึดวิถีพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ในส่วนด้านการเกษตร มุ่งเน้นการส่งเสริมและยกระดับการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

 

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ตามที่ วช. มีนโยบายสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้น ที่ดีของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับทาง วช. ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่องค์ความรู้ จากงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ เชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และกระจายรายได้สู่สังคมต่อไป

 

ผศ.ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง คณบดีคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า ทางคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ วช. มีภารกิจในการสนับสนุนการจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยชุมชน" ผ่านเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ในพื้นที่หนองระเวียง คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ที่มีความพร้อมขององค์ความรู้จากผลงานวิจัย และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่คณาจารย์ในด้านการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา ชุมชนและสังคม จึงรับเป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน โดยใช้ฐานความรู้จากการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ครอบคลุมอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบศูนย์วิจัยชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

1. เพื่อเป็นศูนย์กลางและเผยแพร่องค์ความรู้ จากงานวิจัยและนวัตกรรม

2. เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกประสบการณ์ และเสริมสร้างทักษะจากงานวิจัยสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืนในอนาคต

3. เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพยั่งยืน และกระจายรายได้สู่สังคม

4. เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐในการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ในวาระพิธีการเปิด "ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน" ในวันนี้ ได้รับความร่วมมือด้วยดี จาก วช. เพื่อสร้างโอกาสใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ภายในงานได้จัดพิธีมอบป้าย “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” จังหวัดนครราชสีมา โดยดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้มอบป้ายให้แก่ รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ ผศ.ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง คณบดีคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร

 

ทั้งนี้ “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” จะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งช่วยยกระดับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีแผนขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็ง และสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

Print
Tags:
Rate this article:
No rating
«January 2025»
MonTueWedThuFriSatSun
303112345
6789101112
13141516171819
20212223242526
272829303112
3456789