NRCT School lunch
ภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียนของประเทศไทยยังมีอยู่ในปริมาณมาก ในอดีตเป็นภาวะโภชนาการขาด แต่ปัจจุบันเริ่มมีภาวะโภชนาการเกิน ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก การจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียนให้เหมาะสม (ลดโซเดียม ลดน้ำตาล ลดไขมัน) จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการได้ ข้อมูลภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก รายงานในจังหวัดนครนายก - ภาวะโภชนาการปกติของนักเรียนจำนวน 4,980 คน (ร้อยละ 66.8) - ภาวะการขาดโภชนาการจำนวน 823 คน (ร้อยละ 11.0) - ภาวะโภชนาการเกินจำนวน 1,655 คน (ร้อยละ 22.2) - ส่วนสูงปกติจำนวน 5,751 คน (ร้อยละ 66.8) - ค่อนข้างเตี้ยถึงเตี้ยจำนวน 731 คน (ร้อยละ 11.0) - ค่อนข้างสูงถึงสูงจำนวน 976 คน (ร้อยละ 22.2) และการบริโภคอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน มักทานอาหารที่มีรสหวาน และเค็มจัด ไม่ค่อยทานผัก และไม่มีการควบคุมในปริมาณที่เหมาะสม
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนงานวิจัยให้ทุนให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการวิจัยการพัฒนาตำรับอาหารไทยมื้อกลางวันเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียนจากการรวบรวมข้อมูลของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายชั้นปีที่ 4-6 จากโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก จำนวน 131 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 7,458 คน
ผลจากการศึกษา ได้พัฒนาเป็นตำรับอาหารกลางวัน จำนวนทั้งหมด 19 รายการอาหาร จากรายการอาหารที่ทางโรงเรียนมีการบริการให้นักเรียนอยู่แล้ว ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ต้นทุนค่าอาหารไม่เกิน 20 บาทต่อมื้อ หลังจากเด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นระยะเวลา 3 เดือนปรากฏว่าน้ำหนัก และส่วนสูง ปริมาณกล้ามเนื้อ เส้นรอบวงแขนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับก่อนการรับประทานอาหาร ขณะที่เส้นรอบเอวและสะโพกก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับไขมันในร่างกายที่มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังมีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นในบริเวณลำตัวและแขน