การเดินทางรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวันหยุดยาว

  • 31 August 2020
  • Author: Admin NRCT
  • Number of views: 1693
การเดินทางรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวันหยุดยาว
(31 สิงหาคม 2563) ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา และศูนย์ปฏิบัติการด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ของ ศบค. โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ได้เปิดเผยผลการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ว่าปริมาณการเดินทางของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ในขณะนี้ได้กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนที่จะมีเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในสัปดาห์นี้ได้กลับมาอยู่ในระดับเกือบเท่ากับช่วงปกติ ส่วนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม อยู่ที่ระดับ 68% เมื่อเทียบต้นปี ซึ่งเมื่อแยกเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละรูปแบบแล้วนั้น พบว่า
- การใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางถนน ปัจจุบันอยู่ในระดับ 64% ทางรางอยู่ในระดับ 82% และทางน้ำอยู่ในระดับ 38% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 
- การเดินทางทางอากาศ ที่ลดลงอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน ขณะนี้ได้กลับมาอยู่ที่ระดับ 58% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 

ทั้งนี้ปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลได้กลับมาอยู่ในระดับนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่ง ศบค. ได้ออกมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 มาแล้วนั้น โดยพบว่าการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยรวมในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ยังคงเพิ่มขึ้นอีก 21% เมื่อเทียบกับในเดือนกรกฎาคม
-การใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางอากาศเพิ่มขึ้นสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 89% เมื่อเทียบก่อนมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5
-การใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางรางและทางน้ำ เพิ่มขึ้น 25% และ 22% เมื่อเทียบก่อนมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5

ทั้งนี้จะมีวันหยุดยาว 4 วันระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 2563 ซึ่งจะมีผลต่อการเดินทางด้วย โดยในช่วงวันหยุดราชการเมื่อเดือนกรกฎาคมนั้น การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลได้เพิ่มขึ้น 9% และการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำและทางอากาศเพิ่มขึ้น 57% และ 40%

📚ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Print