วช.ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านยางพาราในงานสัมมนา “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์”

  • 9 March 2024
  • Author: PMG
  • Number of views: 273
วช.ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านยางพาราในงานสัมมนา “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์”
วันที่ 8 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จัดงานสัมมนา เรื่อง “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” ณ อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานเปิดนิทรรศการ และกล่าวเปิดการสัมมนา นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพานิชย์” และ นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยาย “สถานการณ์ยางพาราไทยกับบทบาทของการยางแห่งประเทศไทย” รวมทั้งการร่วมอภิปราย “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารากับโจทย์ Demand & Supply ในปัจจุบันและอนาคต” และ “งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย” จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายและโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบอันจะเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ในการดำเนินการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว พร้อมทั้งนำทีมร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานด้านยางพารา ภายใต้การดำเนินงานของ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา (Hub of Talents in Natural Rubber)” ซึ่งมี รศ.ดร.วีระศักดิ์ สมิทธิพงศ์ เป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคน สร้างความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับชาติและนานาขาติให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมด้านยางพารา โดยมีผลิตภัณฑ์ยางพาราที่จัดแสดงเผยแพร่ผลงานวิจัย จำนวนทั้งสิ้น 8 ผลงาน ดังนี้
1. คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน FSC: ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร และคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. ต้นแบบแผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ: รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด และคณะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด และบริษัท เอ๊กซ์เท็นซีฟว์ รีเสิร์ช โพลีเมอร์ส จำกัด
3. ต้นแบบผลิตภัณฑ์ยางรีดนมวัว: ดร.ไพโรจน์ จิตรธรรม และคณะ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ร่วมกับ ฟาร์มโคนม ปรีชาฟาร์ม บุญฤทธิ์ฟาร์ม และก่อเกียรติฟาร์ม
4. ต้นแบบเสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ: รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ และคณะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด
5. ต้นแบบยางล้อรถจักรยาน: ผศ.ดร.เสรี พงศ์พันธุ์ภาณี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท บางกอกพัฒนามอเตอร์ จํากัด
6. ต้นแบบยางล้อรถบรรทุกเล็ก: รศ.ดร.นันทิยา หาญศุภลักษณ์ และคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เอส.อาร์.ไทร์ จำกัด
7. กระเป๋าเส้นสานจากพอลิเมอร์ผสมยาง: บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด และ
8. ยางปิดกั้นระหว่างชานชาลากับรถไฟฟ้า: บริษัท เอส.เค.โพลีเมอร์ จำกัด
Print
Tags: