วช.ได้สนับสนุน กฟผ. นำอุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้าได้เข้าร่วมประกวดในงาน “11th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2017)

  • 23 November 2017
  • Author: admin2
  • Number of views: 2490


สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุน กฟผ. นำอุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้าได้เข้าร่วมประกวดในงาน “11th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2017) ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 9 – 11 ตุลาคมที่ผ่านมา จนได้รับรางวัล Platinum และรางวัล Special Prize (On Stage) จาก Inventions Pot , ประเทศซาอุดิอาระเบีย

กฟผ. คิดค้นอุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมางานซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง มีด้วยกัน 3 วิธี คือ1. วิธีปลดสายไฟฟ้าลงมาซ่อมที่พื้น 2. วิธีใช้กระเช้าไต่สายออกไปซ่อม3. วิธีใช้กระเช้ารถเครนขึ้นไปซ่อม ทั้ง 3 วิธี ต้องดับกระแสไฟในการทำงานซ่อมสายไฟฟ้า 3 - 6 ชั่วโมง จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถประเมินบาดแผลของสายไฟฟ้าได้ การปลดสายไฟฟ้าลงมาซ่อมสายไฟฟ้าอาจจะเสียหายได้มากกว่าเดิม ดังนั้น นายฤทธิรงค์ มีปิ่น และทีมพนักงานบำรุงรักษาสายส่งอุตรดิตถ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดประดิษฐ์ อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้าขึ้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการทำงาน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ 

นายฤทธิรงค์ มีปิ่น เปิดเผยว่า จากสถิติสายไฟฟ้าแรงสูงเกิดขัดข้อง ของกองบำรุงรักษาสายส่ง ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือในปี 2555 – 2558 พบว่า เกิดเหตุการณ์สายไฟฟ้าแรงสูงขัดข้องถึง 73 ครั้ง และในแต่ละครั้งที่ซ่อมต้องตัดกระแสไฟเป็นเวลานาน จึงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิต ปัญหานี้เองจึงทำให้คิดประดิษฐ์ อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้าขึ้นมา อุปกรณ์นี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำมาก่อน การใช้งานโดยนำมาใช้กับรถบรรทุกติดเครนของ กฟผ. โดยการติดตั้ง Boom Crane Support ที่ปลายหัวบูม และนำ Gin Boom 500 เควีมาประยุกต์ติดตั้งกับ Boom Crane Support พร้อมเดินแนวเชือกและรอกเพื่อรับนำหนักผู้ปฏิบัติงานโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวรับ นำหนัก จากนั้นให้ผู้ปฏิบัติงานสวมชุด Conductive Suite หรือ ชุดตัวนำนั่งในกระเช้าเก้าอี้ Bare Hand จากนั้น ส่งผู้ปฏิบัติงาน เข้าสู่สายไฟฟ้า และผู้ปฏิบัติงานซ่อมสายไฟฟ้าที่ชำรุด ด้วยการพัน Preform Armor Rod เมื่อเสร็จแล้ว ส่งผู้ปฏิบัติงานลงพื้นจัดเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งนอกจากจะสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ดับกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังมีประโยชน์ ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น สามารลดจำนวนคนผู้ปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องซื้อเครื่องมือที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ และสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์โดยการขายอุปกรณ์และวิธีการใช้ให้ต่างประเทศ 

 

Print
Tags: