รางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand 

TWAS (The World Academy of Sciences for the Advancement of Science in Developing Counties) หรือ สภาวิทยาศาสตร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เดิมชื่อ Third World Academy of Sciences หรือสภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม เป็นองค์กรอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 ด้วยความร่วมมือขอ’นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสภาวะผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ปัจจุบัน TWAS อยู่ในความอุปถัมภ์และกำกับดูแลขององค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO โดยมีสำนักงานอยู่ที่เมือง Trieste ประเทศอิตาลี

การให้รางวัล

ในปี พ.ศ. 2529 TWAS ได้จัดตั้งโครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากร
ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีผลงานดีเด่นใน 4 สาขาวิชาการ คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ หมุนเวียนกันไปแต่ละปีตามลำดับ
เข้ารับรางวัลซึ่งประกอบด้วยโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าให้ก้าวหน้าต่อไป ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการจำนวน 43 ประเทศ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม ได้เข้าร่วมในโครงการนี้เช่นกัน
การเข้าร่วมในโครงการ TWAS ของประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เข้าร่วมในโครงการของ TWAS ในปี พ.ศ. 2540 ด้วยพิจารณาเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยทางด้านศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย วช. ได้ดำเนินการสรรหานักวิทยาศาสตร์ไทย โดยแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการเป็นคณะทำงานพิจารณาและสรรหานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เพื่อขอรับรางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand แต่ละปี ในการนี้ มีผู้ได้รับรางวัลฯ แล้วทั้งสิ้นจำนวน 19 รายดังนี้ 

1. ประจำปี 2540 (สาขาชีววิทยา) : ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

2. ประจำปี 2541 (สาขาเคมี) : ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. ประจำปี 2542 (สาขาคณิตศาสตร์) : รศ.ดร. เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4. ประจำปี 2543 (สาขาฟิสิกส์) : ผศ.ดร. ธนากร โอสถจันทร์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

5. ประจำปี 2544 (สาขาชีววิทยา) : รศ.ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

6. ประจำปี 2545 (สาขาเคมี) : รศ.ดร. สุภา หารหนองบัว
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

7. ประจำปี 2546 (สาขาคณิตศาสตร์) : รศ.ดร. ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

8. ประจำปี 2547 (สาขาฟิสิกส์) : ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์
สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

9. ประจำปี 2548 (สาขาชีววิทยา) : ผศ.ดร. มัลลิกา เจริญสุธาสินี
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

10. ประจำปี 2550 (สาขาเคมี) : รศ.ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

11. ประจำปี 2551 (สาขาคณิตศาสตร์) : รศ.ดร. สาธิต แซ่จึง
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

12. ประจำปี 2552 (สาขาฟิสิกส์) : รศ. ดร. สันติ แม้นศิริ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

13. ประจำปี 2553 (สาขาชีววิทยา) : นพ. วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

14. ประจำปี 2554 (สาขาเคมี) : ผศ.ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

15. ประจำปี 2555 (สาขาคณิตศาสตร์) : ผศ.ดร.ภูมิ คำเอม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี

16. ประจำปี 2556 (สาขาฟิสิกส์) : ผศ.ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

17. ประจำปี 2557 (สาขาชีววิทยา) : ศ.นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

18. ประจำปี 2558 (สาขาเคมี) : ดร.วรายุทธ สะโจมแสง
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

19. ประจำปี 2559 (สาขาเคมี) : รศ.ดร. ดวงกมล เบ้าวัน
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเหตุ: รางวัลประจำปี 2549 ซึ่ง วช. พิจารณาในสาขาเคมี ในปี 2550 นั้น ทาง TWAS ขอให้เปลี่ยนเป็นรางวัลประจำปี 2550
เพื่อให้ตรงกับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของ TWAS