วช. จัดการเสวนา เรื่อง “ภัยคุกคามด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ”

วช. จัดการเสวนา เรื่อง “ภัยคุกคามด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ”















วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “ภัยคุกคามด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ” โดยมีวิทยากรจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ศ. ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ดามพ์ เศรษฐจันทร จาก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ. ดร.อุบลลักษณ์ รัตนศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยบูรพา ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ ผู้ดำเนินการเสวนา ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 203 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศ. ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากการปนเปื้อนแคดเมียมในดินเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์อย่างร้ายแรง แคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักมีคุณสมบัติสะสมในสิ่งแวดล้อมและร่างกาย ไม่สามารถย่อยสลายได้ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกลไกการปนเปื้อนและผลกระทบของแคดเมียม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย
ดร.ดามพ์ เศรษฐจันทร จาก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ปัญหาด้านภัยที่มาจากอากาศเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสมดุลของธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยที่มาจากทางอากาศอย่างจริงจัง
ศ. ดร.อุบลลักษณ์ รัตนศักดิ์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเทคโนโลยี โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1) เทคโนโลยีด้านกระบวนการ (Biorefinery)
หมวดที่ 2) เทคโนโลยีด้านพลาสติกย่อยสลายได้ (Biodegradable plastic) หมวดที่ 3) เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง หมวดที่ 4) เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมการทาง และหมวดที่ 5) เทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตไบโอก๊าซ และการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน จาก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาภัยคุกคามด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ว่า แม้ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องยังคงมีประชากรจำนวนมากทั่วโลกเผชิญกับปัญหาสุขอนามัยที่ซับซ้อน อันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ มลพิษทางน้ำ พฤติกรรมเสี่ยง และการดื้อยาของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นผลจากการวิวัฒนาการของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดความท้าทายต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก นักวิจัยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาวิธีการป้องกันและควบคุมปัญหาสุขอนามัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำ พบกับนวัตกรรมล้ำสมัย ผลงานวิจัยสุดล้ำ และกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
Print