วช. จัดการเสวนา เรื่อง “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย”

วช. จัดการเสวนา เรื่อง “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย”



















วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย”โดยมีวิทยากรจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ รศ. ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ. ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ศักดา ตรีเดช จาก กรมควบคุมมลพิษ ดร.วนิสา สุรพิพิธ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ และ คุณกันตชัย ไพจิตรโยธี จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 204 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ กล่าวว่าปัจจุบันระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างมากในการคาดการณ์ข้อมูลต้องมีความถูกต้องทั้งเชิงพื้นที่และเชิงเวลายกระดับไปสู่การพัฒนาระบบการพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย
ต่อไปในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
รศ. ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการกระจายของสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด ประกอบด้วย ลักษณะแหล่งกำเนิด ลักษณะของสารมลพิษ สภาพทางอุตุนิยมวิทยาและลักษณะของสถานที่หรือผู้ที่ได้รับมลพิษ ดังนั้นต้องใช้ฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ รวมกันในการเตรียมความพร้อมและรับมือ
ผศ. ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันได้มีการพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยแบบ Real-time ผ่านแอพพลิเคชั่น ๆ ดังนี้ แอพพลิเคชั่น Air Vista แอพพลิเคชั่น FireD แอพพลิเคชั่น CM PM2.5 แอพพลิเคชั่น NRCT AQIC และแอพพลิเคชั่น LINE official Air Quality by CMU เพื่อสนับสนุนประเมินการตัดสินใจในคุณภาพอากาศแบบ Real-time ให้กับประชาชนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ดร.ศักดา ตรีเดช จาก กรมควบคุมมลพิษ ได้ให้ข้อมูลว่า แบบจำลองคุณภาพอากาศ เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการจำลองและพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศอันเนื่องมาจากการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ โดยอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในการคำนวณ ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการคุณภาพอากาศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดมาตรการควบคุมมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.วนิสา สุรพิพิธ จาก ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทย มีแบบจำลองคุณภาพอากาศด้วยกันอยู่ 2 แบบ หลัก ๆ คือแบบที่ 1) Near Term Air Quality Forecast for Air Pollution Alert เพื่อพยากรณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ล่วงหน้า และ แบบที่ 2) Magement of Air Quality Present and Future เพื่อศึกษาผลกระทบของอากาศด้านสุขภาพอนามัย และด้านอื่น ๆ ในที่ที่ไม่มีข้อมูลคุณภาพอาศในการพยากรณ์คุณภาพอากาศได้อย่างทันท่วงที
คุณกันตชัย ไพจิตรโยธี จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า แบบแผนภาพจำลองในการประเมินระบบพยากรณ์คุณภาพเพื่อแจ้งเตือนประชาชนไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนข้อมูลจากปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลว่ามาจากพื้นที่ไหนเพื่อให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที
โดยมีหัวข้อการเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ หัวข้อ “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และระบบการคาดการณ์ศักยภาพการรองรับปริมาณการระบาย PM2.5 สำหรับสนับสนุนการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรกรรมในระดับท้องถิ่น” หัวข้อ “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศ
ในพื้นที่ภาคเหนือ” และหัวข้อ “ระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศในระดับภูมิภาคอาเซียน (NASA-SERVIR-Mekong) และระดับโลก (Ensemble Global Models) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายระหว่างประเทศและวิจัยบรรยากาศในโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ)”
ทั้งนี้ วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำ พบกับนวัตกรรมล้ำสมัย ผลงานวิจัยสุดล้ำ และกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
Print