วช. จัดประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ "วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่โดยวงไทยชิมโฟนีออร์เคสตรา"

วช. จัดประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี โครงการ "วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่โดยวงไทยชิมโฟนีออร์เคสตรา"
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการ "วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่โดยวงไทยชิมโฟนีออร์เคสตรา" ซึ่งอำนวยการโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ เลขานุการกรม เข้าร่วมงานดังกล่าว ฯ นายวุฒิชัย ด่านชัยวิจิตร นายกเทศมนตรีเมืองอโยธยา นายมานัส ทรัพย์มีชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมงาน ณ วัดกุฎีดาว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
งานประลองยอดฝีมือดนตรีซึ่งจัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นรอบชิงชนะเลิศครั้งที่ ๑ มีทั้งหมด ๖ ทีม บรรเลงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ซึ่งควบคุมวงโดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงโดย ดร. สุชาติ วงษ์ทอง และ วงปล่อยแก่จาก จ.ราชบุรี และ วงปล่อยแก่ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมแสดงการร้องประสานเสียง
รศ.ดร.สุกรีฯ กล่าวว่า จากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านได้ตายไปหมดแล้ว ความตายในที่นี้หมายถึงไม่มีคนเรียนหรือสืบทอดฝีมือ เพราะไม่มีพื้นที่ในการจัดแสดง และที่สำคัญคือไม่มีอาชีพในการทำมาหากิน ดังนั้น เยาวชนที่ชอบดนตรีก็เล่นดนตรีกันเล่น ๆ แล้วก็ทอดทิ้งไป การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรี จึงเป็นโอกาสให้เยาวชนดนตรีได้ฝึกซ้อมเพลงเพื่อการประลอง โดยมีรางวัลเป็นทุนการศึกษาและเป็นรายได้ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นฝีมือดนตรีของเยาวชนซึ่งฝีมือจะนำทางไปสู่โอกาส สร้างเวที สร้างพื้นที่แนวใหม่ โดยมีวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราวงเยาวชนไว้อีกชั้นหนึ่ง การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรีเป็นเหมือนโอกาสที่จะทำให้เยาวชนดนตรีที่มีความสามารถได้ขึ้นเวทีแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นฝีมือสุดยอดของนัก หัวใจสำคัญของการประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรี คือการนำเพลงในอดีตที่เป็นมรดกอันไพเราะงดงามมาพัฒนาเพื่อรับใช้สังคมใหม่ จากรากฐานสู่ความเป็นพื้นฐาน แล้วนำไปสร้างให้ได้มาตรฐานนานาชาติหรือได้มาตรฐานสากล เพื่อใช้ดนตรีสร้างความภูมิฐานเป็นสินค้าวัฒนธรรมเพลงให้แก่ผู้ฟังไทยและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนทุนแก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ในการทำวิจัยเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒธรรม และเพื่อศึกษาวัฒนธรรมดนตรีของเมืองสำคัญ ๒ เมืองคือ เมืองอโยธยา (อยุธยา) และเมืองศรีเทพ (เพชรบูร์) โดยศึกษาค้นคว้าและนำเพลงจากท้องถิ่นมาเรียบเรียงสำหรับบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่นำเสนอเรื่องราวในอดีต มาปรับใช้ในปัจจุบัน เพื่อจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นทางเลือกให้กับวิถีชีวิตชุมชน และท้องถิ่นต่อไป
Print