วันที่ 23 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาเนื่องในโอกาส วช. ครบรอบ 65 ปี ภายใต้แนวคิด “65 ปี วช. บูรณาการความรู้ เชิดชูนักวิจัย สร้างอนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” หัวข้อ เรื่อง “วิจัยเพื่อคนไทย ห่างไกลภัยจากโลกออนไลน์” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานกล่าวเปิดการเสวนา โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นายนิเวช มิ่งมิตรโอฬาร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และ ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย และ นักวิจัยอาวุโส ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมด้วย นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นการเสวนาในเรื่อง “วิจัยเพื่อคนไทย ห่างไกลภัยจากโลกออนไลน์” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญในด้านชีวิตทรัพย์สิน การดำรงชีวิตในปัจจุบันของประชาชนให้ห่างไกลภัยจากโลกออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมเพิ่มศักยภาพและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาภัยจากโลกออนไลน์ด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ล้ำหน้ามากขึ้นในทุก ๆ วัน ส่งผลให้การทำกิจกรรมทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนได้ปรับสู่การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนคนไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้รับมือกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้น ลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ พร้อมสร้างสังคมแห่งการรู้เท่าทันได้ในระยะยาว โดยในวันนี้ วช. ได้รับเกียรติจากผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานหลักสำคัญในการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และหน่วยงานหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ของประเทศร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรม สร้างเกราะป้องกัน ยับยั้ง และปราบปรามปัญหาภัยจากโลกออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งของประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า สกมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำนโยบายและแผน กรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการเฝ้าระวัง ติดตาม และแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. ธนาคารต่างๆ รวมทั้งการสร้างกลไกเพื่อต่อสู้กับภัยจากโลกออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนถูกหลอกน้อยลง การวิเคราะห์ถึงปัญหาที่โลกเผชิญอยู่เป็นหน้าที่ที่ต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน การสร้างกลไกเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยทั้งการพัฒนาระบบและการให้ความรู้แก่ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภัยคุกคามออนไลน์ ซึ่งควรต้องมีการกำหนดปัญหาวิจัยให้ชัดเจน
นายนิเวช มิ่งมิตรโอฬาร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กล่าวว่า หน่วยงานเป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ โดยหน่วยงานได้มีความร่วมมือ และได้มีการสร้างเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน เพื่อผลักดันความตระหนักรู้ทางด้านพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตัวอย่างเช่น โครงการ PDPA Challenge ที่เป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับ ทักษะการเรียนรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เกิดความเชี่ยวชาญในการนำไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น รวมทั้งหลักสูตรอบรมสำหรับ เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง บุคคลทั่วไป และผู้บริหาร โดยในปัจจุบันหน่วยงานได้มุ่งเน้นเรื่อง Privacy เป็นหลักสำหรับการพัฒนาระบบ และได้มีการจัดทำการประเมินระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Maturity Model) และหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Index)
ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย และ นักวิจัยอาวุโส ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย และ นักวิจัยอาวุโส ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีการดำเนินการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต้นแบบในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการออกแบบระบบและบริการประชาชนให้มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การพัฒนา Spoof Detection เพื่อตรวจสอบใบหน้ามนุษย์จริงและใบหน้ามนุษย์ที่มาจากการตัดต่อ การพัฒนา FaceGuard : Face Anonymization for PDPA เพื่อปิดบังใบหน้าของประชาชนในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และจาก วช. รวมถึง การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชนในแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถป้องกันภัยจากโลกออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ