วช. จัดเสวนาวิชาการ “จากปัญญาประดิษฐ์สู่ผู้ช่วยอัจฉริยะ: การปรับเปลี่ยน AI ให้เป็น Intelligent Assistant” ในงาน วช. ครบรอบ 65 ปี

วช. จัดเสวนาวิชาการ “จากปัญญาประดิษฐ์สู่ผู้ช่วยอัจฉริยะ: การปรับเปลี่ยน AI ให้เป็น Intelligent Assistant” ในงาน วช. ครบรอบ 65 ปี















วันที่ 22 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาเนื่องในโอกาสที่ วช. ครบรอบ 65 ปี ภายใต้แนวคิด “65 ปี วช. บูรณาการความรู้ เชิดชูนักวิจัย สร้างอนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในประเด็นหัวข้อหลัก เรื่อง “จากปัญญาประดิษฐ์สู่ผู้ช่วยอัจฉริยะ: การปรับเปลี่ยน AI ให้เป็น Intelligent Assistant”

โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ และให้ข้อเสนอแนะแนวทางการเสวนาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1

การเสวนาในหัวข้อ เรื่อง “จากปัญญาประดิษฐ์สู่ผู้ช่วยอัจฉริยะ: การปรับเปลี่ยน AI ให้เป็น Intelligent Assistant” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ในประเด็น “พลิกโฉมการพัฒนา AI สู่ผู้ช่วยอัจฉริยะ” ได้อธิบายถึง การใช้ AI ให้เป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงแค่ตอบคำถามหรือทำงานตามคำสั่งเท่านั้น แต่ยังสามารถคิด วิเคราะห์ และให้คำแนะนำเชิงลึกเหมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่เข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้น
หัวข้อ “พลิกโฉมธุรกิจด้วย AI: ผู้ช่วยอัจฉริยะเพื่อความสำเร็จแห่งอนาคต” โดย นายสุวัฒน์ มีมุข บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้อธิบายถึงารนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการช่วยให้การตัดสินใจในธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จในโลกธุรกิจยุคใหม่
หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาและการแพทย์: ยกระดับผู้ช่วยอัจฉริยะสู่อนาคตแห่งนวัตกรรมไทย”
โดย ดร.ทศพร เฟื่องรอด จาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายถึงบทบาทของ AI ในการพัฒนาการศึกษาและการแพทย์ เช่น การใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วย รวมถึงการสร้างเครื่องมือการเรียนรู้ที่เหมาะสม
หัวข้อ “พลิกโฉมสังคมไทย: ท้าทายการพัฒนาผู้ช่วยอัจฉริยะเพื่อสังคมจริยธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงความสำคัญของการพัฒนา AI ที่ไม่เพียงแต่เน้นความสามารถทางเทคโนโลยี แต่ยังต้องคำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการใช้ AI อย่างมีจรรยาบรรณในยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ การเสวนาในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของ AI ในการเป็น Intelligent Assistant ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคมไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ภาคการประชุมกิจกรรมการเสวนาในประเด็นสำคัญ กิจกรรม NRCT Talk ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถเยี่ยมชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ผ่านการพัฒนาต่อยอดในกิจกรรม ชิม ช็อป ชิล ตลาดงานวิจัย ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยนวัตกรรมของไทยที่น่าสนใจหลากหลายประเภท นอกจากนี้ยังมี พื้นที่สร้างสรรค์เรียนรู้ สำหรับการจัดกิจกรรม Workshop และการเรียนรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมเรียนรู้และทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
Print