วันที่ 22 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี วช. ภายใต้แนวคิด “65 ปี วช. บูรณาการความรู้ เชิดชูนักวิจัย สร้างอนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมีหัวข้อหลักคือ “Nature-based Solution ทางออกประเทศไทย
เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ คุณสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม และได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนวทางการเสวนาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1
คุณสตตกมล เกียรติพานิช กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วช. มรการสนับสนุนทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วช. ให้ความสนใจการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution เพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน จึงได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนการใช้ Nature-based Solution ในหลายรูปแบบ โดย
ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบแนวคิด Nature-based Solution การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยธรรมชาติที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และโอกาสของประเทศไทยซึ่งอุดมไปด้วยฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ และการนำมาประยุกต์กับการกักเก็บคาร์บอน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งในส่วนของป่าชายเลน และระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนโดยใช้เทคโนโลยี
ศ. ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการใช้ Nature-based Solution ในภาคการเกษตร ให้ประโยชน์ 3 อย่าง ทั้งในแง่การปรับปรุงความยืดหยุ่นของการเกษตร ทั้งยังสามารถกักเก็บคาร์บอนในดิน และเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรจึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่ยอดเยี่ยม โดยใช้แนวทาง Climate smart agriculture และ Regenerative agriculture โดยประเด็นใหญ่ที่ควรให้ความสนใจคือ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาใช้น้ำภาคการเกษตรโดยใช้ข้อมูลจาดดาวเทียม พร้อมทั้งให้ตัวอย่างที่น่าสนใจจาก European carbon farming summit
ในภาคป่าไม้ รศ. ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงความความท้าทายของภาคป่าไม้ เนื่องจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น เช่น ไฟป่าซ้ำซาก ความแห้งแล้ง การเกิดโรคและแมลง ซึ่งจะส่งผลเสียเป็นวงกว้าง ไม้สำคัญที่อาจจะหายไป ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การสูญเสียนิเวศบริการ หลักการ Nature-based Solution จะนำมาช่วยให้ป่าปรับตัว ทั้งในมิติ Forest ecosystem – based approach และ Landscape approach ในการจัดการป่าไม้ เพื่อฟื้นฟู เพิ่มการกักเก็บคาร์บอน และลดปัญหาหมอกควัน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนั้นโดยอาศัยเทคโนโลยี และมีการตรวจติดตามที่ตรงตามหลักการ
คุณรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ฉายภาพให้เห็นความเชื่อมโยงของเป้าหมายระดับต่าง ๆ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ตัวอย่างการศึกษาแนวทางการใช้ Nature-based Solution ในภาคเมือง ได้แก่ พื้นที่สวนนิเวศอ่อนนุช บึงมักกะสัน บึงบอระเพ็ด
รศ. ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ผลการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วช. สรุปภาพรวมการเสวนาว่าแนวทางการใช้ Nature-based Solution ที่เห็นปลายทางค่อนข้างชัดเจนคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังต้องการตัวออย่างในบริบทต่าง ๆ ของประเทศที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ภาคการประชุมกิจกรรมการเสวนาในประเด็นสำคัญ กิจกรรม NRCT Talk ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถเยี่ยมชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ผ่านการพัฒนาต่อยอดในกิจกรรม ชิม ช็อป ชิล ตลาดงานวิจัย ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยนวัตกรรมของไทยที่น่าสนใจหลากหลายประเภท นอกจากนี้ยังมี พื้นที่สร้างสรรค์เรียนรู้ สำหรับการจัดกิจกรรม Workshop และการเรียนรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมเรียนรู้และทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ