วช. จับมือ RUN ขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065

  • 11 August 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 482
วช. จับมือ RUN ขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065
วช. จับมือ RUN ขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065

รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายสำคัญในที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ จะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ภายในปี2065

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย หรือ RUN จัดงานปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Roles of Research towards Net Zero Ambitions” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of the Corporate Group at Banpu ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า มหกรรมวิจัยแห่งชาติเป็นกลไกที่ทำให้เห็นความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเครือข่ายระบบวิจัยที่มาร่วมงานทุกปี โดยปีนี้มาจาก 180 หน่วยงานรวม1,000 ผลงาน โดยหนึ่งในผลงานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและมีความท้าทายใหม่ ๆ คือ ผลงานของ RUN ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 8 มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญในคลัสเตอร์ที่สำคัญของประเทศและนำประเด็นที่สำคัญที่หลายคนรอคอยมานำเสนอ ซึ่งในปีนี้นำเรื่อง Net Zero ซึ่งเป็นประเด็น Top Hit มากในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติปีนี้ และเป็นโอกาสดีที่ RUN ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยของประเทศร่วมกับเครือข่ายระบบวิจัยอีกหลายแห่งจะนำ ววน. มาทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ขอให้กิจกรรมที่ RUN ได้ตั้งใจและวิทยากรที่ร่วมให้ข้อคิดเห็นในเวทีเสวนาจะร่วมกันผลักดันให้ประเทศเกิดภาพใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม และการแบ่งปันการอยู่ร่วมกันและทำให้ประเทศไทยเป็น Net Zero โดยใช้ ววน .เป็นตัวขับเคลื่อน

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สภาการอุดมศึกษา ทำแผนงานให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มีเป้าหมาย 10 แห่ง แต่ด้วยการบริหารแบบไทย ๆ งบประมาณ 5,000 ล้านบาท จึงกระจายไป 100 แห่ง ใช้เวลา 3ปีจะทำอย่างไรให้เป็นมหาวิทยาลัยเข้มแข็ง ซึ่งได้พบว่ามหาวิทยาลัยไปได้ดีแต่ไปไม่ได้สุดทาง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไป วช. ได้จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาทต่อเนื่อง 3 ปี ให้ลองหาวิธีจัดการใหม่โดยเอาประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้ง ซึ่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จึงขอขอบคุณคนทำงานที่ได้ทลายกำแพงระหว่างมหาวิทยาลัย แต่ไม่รู้จะทำได้ขนาดไหน ต้องจับตากันต่อไปว่ากลุ่มเหล่านี้จะเข้มแข็งพอจะไปหาทุนได้ด้วยตนเองตามความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอไอ ภูมิอากาศ พีเอ็ม 2.5

“ปัญหาของเราก็คือ เคยไปร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน ประเทศเราประกาศเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกมา 10 ปี เขาไม่ใช้ผลงานวิจัยที่เราทำมา เมื่อเดือนที่แล้ว สกสว. จัดงาน Triup Fair มีเรื่อง Net Zero ด้วย มีคนส่งผลงานเข้ามา 100 เรื่อง มีเรื่องเอาไปใช้ได้จริง 30 กว่าเรื่อง แต่คนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในการทำให้เกิด Net Zero ได้ เช่น ใช้รถอย่างคุ้มค่าให้มากขึ้นด้วยการไปด้วยกัน ภาคเอกชนอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็อาจจะต้องลงทุนหาที่จอดรถให้แก่ลูกค้าที่ใช้รถไฟฟ้าให้เพียงพอ RUN อาจจะจัดทำหลักสูตรให้ทุกคนได้รู้เกี่ยวกับ NET ZERO อย่างน้อยการประชุม COP ผ่านมา 3 ครั้งแล้ว น่าจะเห็นว่าเราไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่หลายประเทศเป็น เช่น โปแลนด์”

รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร ประธาน RUN กล่าวว่า เครือข่าย RUN เป็นความร่วมมือจาก 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีใหญ่ให้ความรู้เกี่ยวกับ Net Zero เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยได้เตรียมตัวในอีก 30 ปีข้างหน้าที่เราจะต้องทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต การลดการปล่อยคาร์บอน การนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ การนำไปสู่ความเป็นกลางของคาร์บอน เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวิทยากรและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ให้ทัศนะและข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ

นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of the Corporate Venture Capital Group at Banpu กล่าวว่า บ้านปูเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมา 40ปี เริ่มจากการพัฒนาด้านพลังงาน ถ่านหิน แก๊ส โซล่าร์เซลล์ พลังงานลม แบตเตอรี่อิออน และมาบุกเบิกงานด้านพลังงานสะอาดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จนมีผลงานด้านเทคโนโลยีพลัังงานในอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และมีนโยบายด้านการลงทุนด้าน Net Zero จากการขยายงานและการลงทุนในต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันได้กลับมานำงานวิจัยมาเป็นประโยชน์กับคนไทย เช่น การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า จำนวน 400กว่าคัน ให้บริการและภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น1,000 คัน การทำโรงเรียนสะอาดที่สุด การให้คำปรึกษาเรื่องยานพาหนะรถไฟฟ้าแก่ทางมหาวิทยาลัย และยังได้ลงนาม เอ็มโอยูกับ Sun Network เพื่อผลักดันการวิจัยในการทำให้มหาวิทยาลัยเป็น Net Zero ได้มากขึ้น

จากนั้นเป็นการเสวนา เรื่อง Net Zero in Action: From Policy to Research and Innovation โดย รศ.ดร.วิศณุ อรรถวานิช จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเด็นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของนักวิจัย ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน ในประเด็น การบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต คุณนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรม ดำเนินรายการโดย ศ.ดร. ชนาธิป ผาริโน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
Print
Tags: